‘คดีฟอกเงิน 8 หมื่นล้าน’ เขย่าสิงคโปร์! รัฐบาล-ธนาคารหันตรวจเข้ม ‘คนรวย’

‘คดีฟอกเงิน 8 หมื่นล้าน’ เขย่าสิงคโปร์! รัฐบาล-ธนาคารหันตรวจเข้ม ‘คนรวย’

ภาพลักษณ์ “สิงคโปร์” ที่เป็นดั่งศูนย์กลางการเงินเอเชีย ด่างพร้อยขึ้น เมื่อเกิด “คดีฟอกเงินมหาศาล” กว่า 8 หมื่นล้านบาท จนเหล่าธนาคารเร่งตรวจสอบลูกค้าเป้าหมายและ Family Office แบบเข้มงวด หลังจากถูกเปิดโปงจุดอ่อนในระบบ

ไม่นานมานี้ ธนาคารต่าง ๆ ในสิงคโปร์ต่างเร่งยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการฟอกเงินอย่างเข้มงวด หลังจากเกิด “คดีฟอกเงินครั้งใหญ่” ในประเทศ ซึ่งกลุ่มอาชญากรจีนสามารถฟอกเงินจากธุรกิจพนันออนไลน์ผ่านสถาบันการเงินในสิงคโปร์อย่างน้อย 16 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 81,000 ล้านบาท

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คดีสุดอื้อฉาวนี้ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของสิงคโปร์แปดเปื้อน และยังเผยจุดอ่อนในกระบวนการคัดกรองลูกค้าของธนาคาร รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

สิงคโปร์ทลายแก๊งฟอกเงิน-ดำเนินคดีธนาคารที่เอี่ยว

จากกรณีดังกล่าว ธนาคาร Citibank, DBS และธนาคารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินอันอื้อฉาวในสิงคโปร์ จึงเร่งมาตรการคุมเข้ม โดยกำลังตรวจสอบทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับกระแสเงินผิดกฎหมายดังกล่าว

ส่วนธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore - MAS) เพิ่งดำเนินการตรวจสอบธนาคารบางแห่งที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เสร็จสิ้น ซึ่งธนาคารที่ทำธุรกรรมกับเหล่าอาชญากรมากที่สุด ผ่านบัญชีเงินฝาก สินเชื่อ และบริการทางการเงินอื่น ๆ เป็นที่คาดว่าจะต้องเผชิญค่าปรับและการลงโทษอื่น ๆ ตามมา

สำหรับทรัพย์สินผิดกฎหมายที่ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไว้เป็นของกลาง มีตั้งแต่เงินสด ทองคำแท่ง อัญมณี รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ โดยผู้ต้องหาทั้ง 10 คนสารภาพผิดทุกข้อหาและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13-17 เดือน ส่วนผู้ต้องสงสัยอีก 17 คน อยู่ระหว่างการสืบสวนและยังคงหลบหนีอยู่

‘คดีฟอกเงิน 8 หมื่นล้าน’ เขย่าสิงคโปร์! รัฐบาล-ธนาคารหันตรวจเข้ม ‘คนรวย’ - ทรัพย์สินที่ถูกยึดในระหว่างสอบสวนการฟอกเงิน (เครดิต: Singapore Police Force) -

ผู้ต้องหาทั้ง 10 คนนี้ มีบัญชีธนาคารที่ดำเนินงานในสิงคโปร์รวมกันกว่า 16 แห่ง โดยมียอดเงินฝากและการลงทุนรวมกันเป็นเงิน 370 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งธนาคารที่มีสินทรัพย์ของผู้ต้องหาเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่ Credit Suisse, Citi และ UOB

อาชญากรเหล่านี้ เป็นลูกค้าชาวจีนจากมณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้งที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่กลับถือ "หนังสือเดินทางทองคำ" จากประเทศต่าง ๆ เช่น ตุรกี วานูอาตู เซนต์คิตส์และเนวิส ฯลฯ

ข้อสงสัยอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับธุรกรรม คือ มีการโอนเงินจำนวนมากจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ซึ่งไม่มีหน้าเว็บไซต์ และระบุว่าเป็นการ "ชำระคืนเงินกู้" ให้กับลูกค้าของธนาคารสหรัฐ

นอกจากนี้ ลูกค้าเก่าหลายคนของธนาคาร Citi ที่ถูกตัดสินว่าฟอกเงินนั้น อยู่ในกลุ่มที่ชื่อว่า "แก๊งฝูเจี้ยน" เนื่องจากพวกเขามาจากมณฑลฝูเจี้ยน ทางใต้ของจีน

ตามเอกสารของศาล จาง รุ่ยจิน (Zhang Ruijin) ชาวจีนผู้ถือหนังสือเดินทางเซนต์คิตส์และเนวิส มีบัญชีธนาคารทั้งหมด 12 บัญชี แบ่งเป็น 6 บัญชีกับธนาคารแห่งนิวยอร์ก และอีก 6 บัญชีกับธนาคารต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคาร OCBC, DBS และธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งประเทศจีน (ICBC)

จาง มีสินทรัพย์ที่ถูกยึดประมาณ 131 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยได้โอนเงินของเขาจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังสิงคโปร์ผ่านฮ่องกง และปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลอกลวงนายธนาคารที่ทำงานใน CIMB Group Holdings Berhad ซึ่งเป็นสถาบันการเงินสัญชาติมาเลเซีย เมื่อจางถูกจับกุม จึงได้สารภาพผิดและถูกตัดสินจำคุกนาน 15 เดือน

คุมเข้ม Family Office

หลังจากเกิดคดีฟอกเงินสุดอื้อฉาว ที่เผยถึง “จุดอ่อน” ในการกำกับของศูนย์กลางทางการเงินเอเชียอย่าง “สิงคโปร์”  รัฐบาลจึงยกระดับมาตรการคุมเข้มด้วยการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก Family Office หรือบริษัทที่ให้บริการจัดการสินทรัพย์ของบรรดาเศรษฐี รวมถึงรัฐบาลได้ขอข้อมูลจากเฮดจ์ฟันด์เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ก็เร่งดำเนินการปิดบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจจริงเพิ่มมากขึ้น

เหตุผลเพราะว่า หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฟอกเงินมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีความเชื่อมโยงกับ Family Office ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้เข้าตรวจสอบธนาคารหลายแห่งภายในสถานที่ และสัมภาษณ์พนักงาน เพื่อหาจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้น เหล่าธนาคารที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ได้เพียงรับฝากเงินเท่านั้น แต่บางธนาคารยังให้สินเชื่อแก่บริษัทที่อาชญากรจีนจัดตั้งขึ้นในสิงคโปร์ รวมถึงช่วยจัดการสัญญาจำนอง หรือช่วยเหลือด้านการลงทุนด้วย

คดีอื้อฉาว 80,000 ล้านบาทนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินชั้นนำ และสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนร้ายแรงของการคัดกรองลูกค้าของธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ “การฟอกเงิน” ไม่เพียงส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสังคม

เหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่สิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกสามารถนำไปทบทวนและพัฒนาระบบป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งควรมีการตรวจสอบและลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

อ้างอิง: bloombergbloomberg(2)