เคาะแล้ว! ปูตินเยือนเวียดนาม 19-20 มิ.ย.67
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เตรียมเยือนกรุงฮานอยสัปดาห์นี้ ตอกย้ำความภักดีที่เวียดนามมีต่อรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้สหรัฐไม่พอใจ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ประธานาธิบดีปูติน ผู้เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งสมัยที่ 5 เมื่อหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา มีกำหนดเยือนกรุงฮานอยระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย.67 คาดว่าระหว่างนั้นจะได้พบกับโต เลิม ประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนาม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ
การเยือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลฮานอยไม่ร่วมประชุมผู้นำสันติภาพยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศ BRICS ที่รัสเซียเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น
ด้านสหรัฐ ซึ่งเพิ่งยกระดับความสัมพันธ์กับฮานอย และเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของเวียดนามออกอาการไม่พอใจ
“ไม่ควรมีประเทศใดให้เวทีแก่ปูตินส่งเสริมสงครามแห่งการรุกรานของเขา หรืออนุญาตให้เขาทำให้การกระทำอันโหดร้ายกลายเป็นเรื่องปกติถ้าเขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี อาจเท่ากับว่าการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรงของรัสเซียเป็นเรื่องปกติ” โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำกรุงฮานอยกล่าวถึงการรุกรานยูเครนของปูตินในเดือนก.พ.2565
รอยเตอร์สสอบถามไปที่กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ยังไม่ได้รับคำตอบ
เมื่อเดือนมี.ค.2566 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซีย โทษฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน แต่ทั้งเวียดนาม รัสเซีย และสหรัฐ ต่างไม่ได้เป็นสมาชิกไอซีซี
ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) หุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญอีกรายหนึ่งของเวียดนาม ไม่ได้ให้ความเห็นเรื่องการเยือนของปูติน แต่เดือนก่อนแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลฮานอยเลื่อนการประชุมกับทูตอียูเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่อียูมองว่าเกี่ยวข้องกับการเตรียมการต้อนรับปูตินมาเยือน
ในมุมมองของรัฐบาลฮานอย เอียน สตอรี นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การมาของปูติน “แสดงให้เห็นว่าเวียดนามดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุล ไม่เข้าข้างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง” หลังจากไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเวียดนามต้อนรับทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
เจ้าหน้าที่สองรายเผยกับรอยเตอร์สว่า นี่เป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของปูตินนับตั้งแต่ปี 2560 ถ้ารวมทั้งหมดก็เป็นครั้งที่ 5 คาดว่าผู้นำรัสเซียจะประกาศข้อตกลงในหลายภาคส่วน เช่น การค้า การลงทุน เทคโนโลยี และการศึกษา
อย่างไรก็ตาม การหารือกับผู้นำเวียดนามน่าจะเน้นในประเด็นที่อ่อนไหวยิ่งกว่า เช่น เรื่องอาวุธ ที่รัสเซียเป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่สุดให้เวียดนาม, พลังงาน บริษัทรัสเซียหลายรายขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซเวียดนามในทะเลจีนใต้ พื้นที่ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ และประเด็นการชำระเงิน เมื่อสองประเทศพยายามหาทางทำธุรกิจเพราะสหรัฐคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียแต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการประกาศเรื่องเหล่านี้หรือไม่
คาร์ล เทเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความมั่นคงเวียดนาม จากสถาบันกองกำลังป้องกันประเทศออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา กล่าวว่า ประเด็นหลักจะเป็นการเสริมแกร่งสายสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ รวมถึงการขายอาวุธ เป็นไปได้ว่าปูติน และผู้นำเวียดนามจะเห็นชอบการทำธุรกิจสกุลเงินรูเบิล-ด่อง ผ่านระบบธนาคารเพื่อชำระเงินซื้อสินค้าและบริการ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์