เพื่อนเก่าสัมพันธ์แกร่ง 'รัสเซีย-เวียดนาม'

เพื่อนเก่าสัมพันธ์แกร่ง 'รัสเซีย-เวียดนาม'

เวียดนาม ต้อนรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสัมพันธ์เก่าแก่หลายสิบปีกับรัฐบาลมอสโกที่ถูกสหรัฐวิจารณ์อย่างหนักจากการรุกรานรัสเซีย

ประธานาธิบดีปูติน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนเกาหลีเหนือ เดินทางมาถึงกรุงฮานอยเมื่อเช้าตรู่วันพฤหัสบดี (20 มิ.ย.67) รัฐบาลเวียดนามแถลงผ่านเว็บไซต์

“การเยือนครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเวียดนามดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนอย่างแข็งขัน ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นอิสระ พึ่งพาตนเองหลากหลาย และพหุภาคีนิยม”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับรัสเซียนับย้อนไปได้หลายสิบปีตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ปูตินมาเยือนเวียดนามครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 ร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ส่วนการเชิญมาครั้งนี้แม้ถูกชาติตะวันตกวิจารณ์ฮานอยก็ไม่ได้สนใจ โดยเมื่อวันจันทร์ (17 มิ.ย.67) ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงฮานอย ออกแถลงการณ์

“ไม่ควรมีประเทศใดให้เวทีปูตินได้โปรโมตสงครามแห่งความก้าวร้าว หรืออนุญาตให้เขาทำการกระทำโหดเหี้ยมของตนกลายเป็นเรื่องปกติ”

ก่อนมาถึงกรุงฮานอย ปูตินเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์หนานดาน (Nhan Dan) ของ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ว่า บริษัทโนวาเทค พีเจเอสซี ของรัสเซีย วางแผนทำโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวในเวียดนาม แต่ปูตินไม่ได้ระบุรายละเอียด ทั้งยังกล่าวถึงโครงการตั้งศูนย์พลังงานนิวเคลียร์โดยใช้เทคโนโลยีจากโรซาทอม รัฐวิสาหกิจนิวเคลียร์ของรัสเซีย

ประเด็นนี้สอดคล้องกับการรายงานของเว็บไซต์รัฐบาลเวียดนามหลังอเล็กซี ลิคาเชฟ ซีอีโอโรซาทอม เข้าพบนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์จิ๋งห์ ว่า โรซาทอมต้องการร่วมมือกับเวียดนามพัฒนาพลังงานลมด้วย

ในบทความปูตินยังกล่าวถึง ธุรกรรมการค้าระหว่างสองประเทศเกือบ 60% กระทำผ่านสกุลเงินรูเบิล และสกุลเงินด่อง 

ทั้งนี้ รัสเซียต้องพึ่งพาระบบชำระเงินทางเลือก นับตั้งแต่ธนาคารรัสเซียถูกตัดออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT

เป็นที่ทราบกันดีว่าเวียดนามพึ่งพาอาวุธรัสเซียมานาน เช่น เครื่องบิน เรือดำน้ำ กระนั้น คาร์ล เทเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.2565 เวียดนามเลี่ยงซื้ออาวุธรัสเซียด้วย เกรงว่าจะถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร และการพบกันรอบนี้ฮานอยต้องการสร้างหลักประกันว่า การที่รัสเซียใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น “จะไม่ส่งผลกระทบต่อเวียดนาม” นักวิชาการรายนี้กล่าว

แม้รัสเซียไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนาม เห็นได้จากปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกไม่ถึง 2 พันล้านเทียบกับ 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐ แต่รัฐบาลมอสโกถูกมองว่าเป็นตัวช่วยสร้างสมดุลทั้งกับปักกิ่งและวอชิงตัน 

อเล็กซานเดอร์ วูวิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชีย จากศูนย์การศึกษาด้านความมั่นคงเอเชียแปซิฟิก Daniel K. Inouye ในฮาวาย กล่าวว่า ฮานอยมองสหรัฐเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ทางอุดมการณ์ ในช่วงที่การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนนอกชายฝั่งเวียดนามเป็นภัยคุกคามอธิปไตย

“รัสเซียสามารถบรรเทาแรงกดดันทั้งจากสหรัฐ และจีนได้ด้วยการสนับสนุนเวียดนาม พวกเขาได้อาวุธจากรัสเซีย หลายปีมาแล้วที่รัฐวิสาหกิจรัสเซียเป็นแนวหน้าปกป้องอธิปไตยเวียดนามในทะเลจีนใต้” วูวิงอธิบาย

เวียดนามอาศัยการสนับสนุนจากบริษัทรัสเซียสำรวจ และขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซในทะเลจีนใต้ ที่บ่อยครั้งต้องเผชิญกับความก้าวร้าวของจีน

ปี 2562 จีนส่งเรือยามชายฝั่งหลายลำ และเรือสำรวจหนึ่งลำเข้ามาในแหล่งน้ำมัน และก๊าซนอกชายฝั่งเวียดนาม ที่รัฐวิสาหกิจรัสเซีย “รอสเนฟต์ พีเจเอสซี” ดำเนินงานอยู่ ก่อนหน้านั้นในปี 2561 ปิโตรเวียดนามสั่งบริษัทเรปโซลของสเปนให้ระงับโครงการนอกชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศ บลูมเบิร์กอินเทลลิเจนซ์เรียกการกระทำนี้ว่า “การสมยอมให้กับแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนโดยไม่มีใครคาดคิด” ในประเด็นนี้ วูวิงมองว่า รัสเซียได้แสดงจุดยืนของตนในทะเลจีนใต้แล้ว 

 ส่วนความร่วมมือด้านพลังงาน  บลูมเบิร์ก รายงานว่า ปิโตรเวียดนามยังลงนามข้อตกลงกับแกซพรอม พีเจเอสซี ยักษ์ใหญ่พลังงานของรัสเซีย เพื่อสำรวจ และขุดเจาะน้ำมัน เวียดซอฟปิโตรซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างเวียดนามกับรัสเซีย เป็นผู้ดำเนินการบ่อน้ำมันใหญ่สุดของเวียดนาม

เป็นกลางสงครามยูเครน

เวียดนามแสดงจุดยืนเป็นกลางในสงครามยูเครนหนึ่งในเก้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมื่อปีก่อนงดออกเสียงประณามรัสเซีย เรียกร้องให้ใช้การทูตแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ในบทความปูตินขอบคุณเวียดนามที่มี “จุดยืนสมดุล” ต่อยูเครน และส่งเสริม “เส้นทางที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขวิกฤติผ่านวิธีการอันสันติ”

นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์เคยพบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเมื่อปีก่อน นอกรอบการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ที่ฮิโรชิมา ข้าราชการ และผู้บริหารภาคธุรกิจเวียดนามหลายคนเคยศึกษาทั้งในยูเครน และรัสเซีย ปัจจุบันชาวเวียดนามราว 60,000 คนอาศัยอยู่ในรัสเซีย

การมาเยือนเวียดนามของผู้นำรัสเซียถูกจับตามองมาก วูวิง กล่าวว่า แม้การต้อนรับปูตินจะสร้างความเสี่ยงให้กับทางการเวียดนาม

“พวกเขาพร้อมรับความเสี่ยง และยังคงภักดีกับรัสเซีย” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์