ผู้เชี่ยวชาญเผยสาเหตุ ‘ทำไม GenZ หาแฟนยาก’

ผู้เชี่ยวชาญเผยสาเหตุ ‘ทำไม GenZ หาแฟนยาก’

คน GenZ กำลังดิ้นรนหารักท่ามกลางอุปสรรคการนัดเดตหลายประการ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เผยถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ GenZ หาแฟนยาก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี ได้คุยกับ เจฟฟ์ กุนเธอร์ ที่ปรึกษาวิชาชีพด้านความสัมพันธ์ ผู้ใช้นาม“Therapy Jeff” ในอินสตาแกรมและติ๊กต็อก คอยให้คำปรึกษาเรื่องการเดต มีผู้ติดตามบนสองแพลตฟอร์มหลายล้านคน

กุนเธอร์เผยว่า GenZ หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2540 - 2555 กลายเป็นคนเลือกมากเพราะแอพหาคู่ ช่วยให้การคัดกรองคนทำได้ง่ายขึ้น สามารถระบุลักษณะพิเศษเฉพาะเจาะจงลงไปได้ เช่น ความสูง รูปร่างหน้าตา

“หลายครั้งที่พวกเราจู้จี้กับลิสต์คุณสมบัติกับคนที่เราอยากได้ ทำให้เราไม่เปิดใจกับคนที่ผิดจากเกณฑ์ไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอเราไปใช้แอพ วิธีการคัดกรองคนก็ไม่ได้เอื้อต่อการค้นหาคนที่เหมาะสมกับเราจริงๆ” กูรูกล่าวพร้อมยกตัวอย่างคนที่ปฏิเสธคนอื่นบนแอพหาคู่เพราะส่วนสูง ซึ่งไม่ใช่ตัวบ่งบอกว่าเขาจะเป็นคนรักที่ดีได้หรือไม่

“หลายคนเลือกผู้ชายสูงเกิน 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) ทั้งๆ ที่มีผู้ชายเพียง 11% เท่านั้นที่สูงเกิน 6 ฟุต”

เท่านั้นยังไม่พอ “หลายคนทำลิสต์ไว้แล้วยึดมั่นถือมั่น ไม่ผ่อนปรน นั่นหมายความว่าไม่เปิดใจให้คนที่อาจจะแมทช์กับเราจริงๆ” ผู้เชี่ยวชาญสาธยาย

ดิอีโคโนมิสต์ รายงานข้อมูลจากเว็บไซต์หาคู่อเมริกัน The League ที่ติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ 80,000 คนใน 10 เมือง เมื่อเดือนม.ค.2566 พบว่า ผู้หญิงปิดกั้นโอกาสพบคนรัก 70% ผู้ชายปิดกั้น 55% เพราะพวกเขาพิจารณาคนจากส่วนสูงหรืออายุ

ยิ่งเมื่อคนหนุ่มสาวคาดหวังสูงกับว่าที่แฟน พวกเขาก็ยิ่งเครียดว่า ชาตินี้จะได้พบรักหรือไม่

ผลการสำรวจเมื่อเร็วนี้ของ EduBirdie จากผู้ให้ข้อมูล 2,000 คน พบว่า GenZ หนึ่งในสี่ กล่าวว่า “หาคู่ไม่ได้” เป็นหนึ่งในความกังวลใหญ่สุดของพวกเขา 20% กล่าวว่า การหาคู่ชีวิตเป็นความท้าทายใหญ่สุดประการหนึ่ง

"แอพหาคู่บีบให้ต้องตั้งเกณฑ์ที่ไม่ตรงกับความสัมพันธ์จริง ผมคิดว่าแอพได้สร้างโลกที่เราอาจรู้สึกว่า ไม่ต้องพยายามมากก็ได้ ยังไงก็กลับไปใช้บริการแอพได้ ปัดไปเรื่อยๆ เพราะมันทำให้รู้สึกว่า เราสามารถปัดแอพไปได้เรื่อยๆ นี่ล่ะ ... ที่มันทำให้หลายคนกลัวการผูกมัด”

นอกจากนี้ GenZ ยังหมกมุ่นอยู่กับการระบุ “ข้อบกพร่อง” (Ick) ในตัวว่าที่คู่เดต คำนี้เป็นเทรนด์ในโซเชียลมีเดีย หมายถึงการที่คนหนุ่มสาวถูกเมินเพราะความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ

ในติ๊กต็อกมีกว่า 200 ล้านโพสต์กล่าวถึง Ick ผู้ใช้บรรยายรายละเอียดที่ทำให้พวกเขาไม่สนใจคู่เดตอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอีโมจิที่ใช้ เมนูที่สั่ง หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่

มายาคติเกณฑ์การเลือกบนแอพหาคู่หมายความว่า GenZ กำลังปฏิเสธคนเพราะรายละเอียดที่ไม่สำคัญ

“มันเหมือนกับเสพติดการใช้แอพ เพราะต่อให้คุณไม่ใช้และกำลังมีความสัมพันธ์ที่ไปได้ดี คุณก็รู้สึกอยากกลับไปใช้อีก อยากกลับไปเสี่ยงอีก เพราะรู้สึกว่าอาจยังมีใครสักคนที่ดีกว่า” กุนเธอร์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: CNBC