บริษัทเทคทุ่มลงทุน AI หนุนธุรกิจ ไม่หวั่นยุคดอกเบี้ยสูง

บริษัทเทคทุ่มลงทุน AI หนุนธุรกิจ  ไม่หวั่นยุคดอกเบี้ยสูง

60% มองว่าเจเนอเรทีฟเอไอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการธุรกิจ และมีบริษัทกว่า 44% จัดงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดสำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในปีหน้า

เศรษฐกิจในยุค ‘อัตราดอกเบี้ยสูง’ ส่งผลกระทบต่องบประมาณบริษัทในการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่บริษัทต่างๆ ในสหรัฐยังคงมองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และคลาวด์เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ และเดินหน้าเทเงินลงทุนก้อนใหญ่ในเอไออย่างต่อเนื่อง

ซีเอ็นบีซีสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีจากองค์กรขนาดใหญ่จำนวน 25 คนระหว่างวันที่ 7 ถึง 14 มิ.ย.2567 พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนด้านเอไอ และมุ่งลงทุนในโครงการ เอไอสำหรับพนักงาน มากกว่าที่จะเป็นการลงทุนในแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับลูกค้า

กล้าลงทุนเอไอเพราะสำคัญกับธุรกิจ

แม้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  แต่บริษัทต่างๆ ยังคงเดินหน้าลงทุนด้านไอที เนื่องจากความจำเป็นในการนำเสนอแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างบริษัทชั้นนำที่ตอบแบบสอบถาม  60%  มองว่าเจเนอเรทีฟเอไอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการธุรกิจ และมีบริษัทกว่า 44% จัดงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดสำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในปีหน้า ซึ่ง 60% เป็นการลงทุนด้านเอไอครั้งใหม่ในฉบับเร่งรัด แสดงถึงความตื่นตัว และมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างรวดเร็ว

เหล่าผู้บริหารมองเห็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่พวกเขาจะเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ในการขับเคลื่อบริษัท ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มี 2 ข้อหลัก ได้แก่ 

1) ความต้องการเทคโนโลยีใหม่ของลูกค้า โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 28% ระบุว่าการตอบสนองความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ของลูกค้าเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด สะท้อนให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคาดหวังของลูกค้าที่รวดเร็ว ทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนาระบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ 

2) แรงกดดันด้านการลดต้นทุน  20% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่า แรงกดดันด้านการลดต้นทุนเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ และคุณภาพขององค์กร

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเอไอย่อมมีผลกระทบต่อ “งบประมาณ” ส่วนอื่นๆ ขององค์กร ตอนนี้บริษัทต่างๆ กำลังเร่งดำเนินการ คัดแยก และจัดระเบียบข้อมูลภายในองค์กรทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเอไอมาใช้งาน กระบวนการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้อาจใช้เวลานานถึงสองสามปี

เจนนิเฟอร์ สวีท ซีอีโอของแอคเซนเจอร์บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่าบริษัทมียอดจองบริการ พุ่ง 566% สูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้  เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากยอด 300 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

สวีทวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเอไอมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้งานเจเนอเรทีฟเอไอคือ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เหมาะสม ดังนั้นองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องจัดการ วิเคราะห์ และประมวลผล ข้อมูลจำนวนมหาศาล ก่อนที่จะนำเอไอมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 บริษัทใช้เอไอหนุนพนักงานมากกว่าลูกค้า

การใช้เอไอในองค์กรใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนพนักงานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เอไอในการทำงาน เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 60% ในผลสำรวจครั้งนี้ แม้ว่าการอนุญาตให้ใช้เอไอจะเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงระบุว่า การใช้งานเอไอจริง ยังคงจำกัดอยู่ที่พนักงานประมาณ 25% ของบริษัทเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจครั้งก่อนที่ดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ทั้งนี้ 64% ของบริษัทวางแผนจะซื้อโซลูชันเอไอสำหรับองค์กร  เช่น Microsoft Copilot ภายใน 6 เดือนข้างหน้า และมุ่งเน้นการใช้เอไอเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสบการณ์ของพนักงาน มีเพียงแค่ 16% เท่านั้น ที่ระบุว่า พวกเขาเน้นการใช้เอไอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริการลูกค้า หรือสร้างประสบการณ์ ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า

เจเนอเรทีฟเอไอมาแทน 'เซมิคอนดักเตอร์’ ยุคเก่า

วิเวก อารยา นักวิเคราะห์ชิปเซมิคอนดักเตอร์จากแบงก์ออฟอเมริกามองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของเจเนอเรทีฟเอไอเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์แบบเดิม ซึ่งอาศัยหลักการ “กฎของมัวร์” (Moore’s Law) ที่ว่าจำนวนทรานซิสเตอร์บนชิปจะเพิ่มขึ้นแบบเลขชี้กำลังนั้น “หยุดนิ่ง” ลงแล้ว แม้ว่ากฎของมัวร์ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์มาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันกฎของมัวร์กำลังเผชิญกับทางตัน

ดังนั้น อุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนการเติบโต และเจเนอเรทีฟเอไอก็เข้ามาตอบโจทย์นี้

อารยาได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง “ฟองสบู่ดอตคอม” ในอดีตกับการลงทุนในคลาวด์ในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองปรากฏการณ์มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“อินวิเดีย” บริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 มิ.ย.67) โดยธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา ประเมินว่า ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์เพิ่งเข้าสู่ปีที่สองของวัฏจักรการใช้งาน 3-5 ปี โดยคาดการณ์ว่าความต้องการฮาร์ดแวร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แตะที่ 3 แสนล้านดอลลาร์ จาก 1 แสนล้านดอลลาร์ ในปีนี้ โดย 80% ของความต้องการนี้คาดว่าจะมุ่งไปที่อินวิเดีย

“ฟองสบู่ดอตคอมเกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน แต่ครั้งนี้การลงทุนในคลาวด์ในปัจจุบัน ถูกขับเคลื่อนด้วยบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคงหลายแห่ง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานแบบคลาวด์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินงาน และการเติบโตของธุรกิจ รวมทั้งงบประมาณการลงทุนในคลาวด์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ลูกค้าหลายรายเพิ่มงบประมาณสำหรับคลาวด์ถึง 40-50%”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์