'โยไค' ตำนานภูติญี่ปุ่น สู่คอนเทนต์ร่วมสมัย

เรื่องเล่าพื้นบ้านเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีค่า สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง "ภูติ ผี ปีศาจ"

เรื่องเล่าพื้นบ้านเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีค่า สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างที่โดดเด่นคือการนำ “โยไค” (Yokai) ภูตหรือปีศาจในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ถูกนำมาใช้สร้างสื่อบันเทิงและผลิตสินค้าต่างๆ

โยไคเป็นส่วนหนึ่งของตำนานญี่ปุ่นมายาวนาน เดิมถูกสร้างภาพให้น่าสะพรึงกลัว แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป โยไคก็พัฒนาไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มีเสน่ห์และเป็นมิตรกับมนุษย์มากขึ้น จนกลายเป็นรากฐานสำคัญในการใช้ประโยชน์จากตำนานท้องถิ่น นำมาแปลงสู่สื่อร่วมสมัยที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

การประยุกต์ใช้โยไคในสื่อบันเทิงเห็นได้ชัดจากมังงะและอนิเมะหลายเรื่อง เช่น GeGeGe no Kitaro ซึ่งสร้างรายได้มหาศาล ข้อมูลจาก Toei Animation ระบุว่า ภาพยนตร์ The Birth of Kitaro: The Mystery of GeGeGe ทำรายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศสูงถึง 15.42 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในแฟรนไชส์ Kitaro 

\'โยไค\' ตำนานภูติญี่ปุ่น สู่คอนเทนต์ร่วมสมัย

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ Yo-Kai Watch เกมที่เน้นการสำรวจโลกที่เต็มไปด้วยโยไค ผู้เล่นต้องค้นหาและจับโยไคเพื่อใช้ในการต่อสู้ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในรูปแบบเกม การ์ตูน และสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะเกมมือถือ Yokai Watch Punipuni ที่สร้างรายได้รวมเกิน 600 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 และมียอดรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงการฉลองครบรอบ 10 ปีของแฟรนไชส์ แสดงให้เห็นถึงความนิยมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของการนำโยไคมาประยุกต์ใช้ในสื่อบันเทิง

\'โยไค\' ตำนานภูติญี่ปุ่น สู่คอนเทนต์ร่วมสมัย

สตูดิโอจิบลิ (Ghibli) ได้ใช้ประโยชน์จากโยไคในการสร้างสรรค์ตัวละครและฉากอันมีเอกลักษณ์ในภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยใน Spirited Away ตัวละครคามาจิ (Kamaji) ได้รับแรงบันดาลใจจากโยไคสึจิกุโมะ (Tsuchigumo) มีลักษณะคล้ายแมงมุมยักษ์ที่มีแขนขายาว มีความสามารถทำงานได้หลายอย่างพร้อมกัน ในขณะที่ผีไร้หน้า (No-Face) เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน

ส่วนในเรื่อง My Neighbor Totoro ตัวละครโตโตโร่ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานของโยไคหลายประเภท ที่รวมลักษณะเด่นของสัตว์ต่าง ๆ เช่น แมว หมี และนกฮูก ผลลัพธ์คือตัวละครขนฟูขนาดใหญ่ที่มีรอยยิ้มกว้างและดวงตากลมโต ซึ่งดูน่ารักและเป็นมิตร แต่ยังคงความลึกลับและมหัศจรรย์แบบเดียวกับโยไคไว้ 

นอกจากนี้ Pom Poko ที่มีเส้นเรื่องมุ่งเน้นการต่อสู้ระหว่างธรรมชาติและการพัฒนาเมือง มีโยไคทานุกิ (Tanuki) เป็นสัตว์ที่สามารถเปลี่ยนร่างได้และใช้พลังวิเศษของตนเพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่จากการรุกล้ำของมนุษย์ การใช้โยไคในภาพยนตร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างโลกแฟนตาซี แต่ยังช่วยเชื่อมโยงวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณเข้ากับเรื่องราวสมัยใหม่ ทำให้ผู้ชมทั่วโลกได้สัมผัสและเข้าใจถึงตำนานพื้นถิ่นของญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้ง

เมืองซาคาอิมินาโตะ (Sakaiminato) ในจังหวัดทตโตริ (Tottori) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้โยไคมาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เมืองนี้เป็นบ้านเกิดของคุณมิซึกิ ชิเงรุ นักเขียนการ์ตูนดังเจ้าของผลงานอสูรน้อยคิทาโร่ เมืองเชิดชูนักเขียนท่านนี้ โดยตกแต่งถนนสายหลัก Mizuki Shigeru Road ด้วยรูปปั้นโยไคมากกว่า 100 ตัว ในปี 2019 ถนนนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 1.4 ล้านคน

นอกจากนี้ เมืองยังจัดเทศกาลโยไคประจำปีที่มีการเดินพาเหรด การแสดงดนตรี และตลาดขายสินค้าที่ระลึก สร้างบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับธุรกิจท้องถิ่น

ในทำนองเดียวกัน “ประเทศไทย” มีผีและตำนานท้องถิ่นที่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง การนำเรื่องราวเหล่านี้มาต่อยอดเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นทำกับโยไค ไม่เพียงแต่จะช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

\'โยไค\' ตำนานภูติญี่ปุ่น สู่คอนเทนต์ร่วมสมัย

ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้ประโยชน์จากตำนานพื้นบ้าน นิทรรศการ “Yokai Parade: Supernatural Monsters from Japan” จึงถูกจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง The Japan Foundation และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA นำเสนอประวัติและวิวัฒนาการของโยไคใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การจัดแสดงภาพม้วนโยไคผ่านฝีพู่กันจากสมัยเอโดะ ภาพพิมพ์แกะไม้เพื่อการผลิตซ้ำ เกมโยไคแปลงความน่ากลัวสู่ความบันเทิงช่วยให้ผู้คนใกล้ชิดกับโยไคมากขึ้น และสินค้าหรือสื่อสมัยใหม่ ประจักษ์พยานของพัฒนาการโยไคที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการนี้จัดแสดง ณ ห้องแกลอรีชั้น 1 TCDC กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. - 28 ก.ค.67 และ TCDC ขอนแก่น วันที่ 7 ส.ค.-8 ก.ย.67