‘ท่องเที่ยว’ ขึ้นอันดับ 2 สร้างรายได้ให้ ‘ญี่ปุ่น’ แซงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว
‘การท่องเที่ยว’ ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 2 ของรายได้ต่างประเทศในญี่ปุ่นแล้ว ด้วยมูลค่ากว่า 7.2 ล้านล้านเยนต่อปี จนแซงหน้ารายได้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนบทบาทภาคการท่องเที่ยวในฐานะ ‘ดาวรุ่ง’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น
“ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของชาวไทย มีรายได้จากต่างประเทศที่มาจาก “ภาคการท่องเที่ยว” สูงเป็นอันดับ 2 จนแซงหน้าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว โดยเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า เงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นถึง “5 เท่าตัว” ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่น เป็นรองเพียงรายได้จากการส่งออกรถยนต์เท่านั้น
ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การซื้อสินค้าโดยตรงภายในประเทศจากครัวเรือนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีมูลค่ารวม 7.2 ล้านล้านเยนต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2567
ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของการท่องเที่ยวขาเข้าในญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายประจำปีแตะที่ 4.6 ล้านล้านเยน สำหรับไตรมาสสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2562 ก่อนจะลดลงในช่วงการระบาดโควิด-19 จากนั้นก็กลับมาเพิ่มขึ้นจนแซงจุดนี้อีกครั้งในไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น
- สวนฮิตาชิ ซีไซด์ พาร์คในญี่ปุ่น (เครดิต: @puraten10blue) -
สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างชาติ มีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าตัวเลข 7.2 ล้านล้านเยน จะยังน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นในปี 2566 (17.3 ล้านล้านเยน) เกือบครึ่งหนึ่ง แต่ก็สูงกว่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์) และเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 และ 3 ของประเทศเมื่อปี 2566
ไซสุเกะ ซาไก (Saisuke Sakai) จาก Mizuho Research & Technologies กล่าวว่า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มเติบโตยากขึ้น แม้ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงก็ตาม เนื่องจากบริษัทต่างๆ ได้ย้ายฐานการผลิตภายในประเทศไปต่างประเทศในช่วงปี 2553 รวมถึงความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ลดลงในด้านต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์
ในทางกลับกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวญี่ปุ่น ได้กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือน ทะลุ 3 ล้านคนเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม และยังคงอยู่เหนือระดับนั้นเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันมาแล้ว
ไม่เพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคัก แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นจากระดับก่อนเกิดโควิดด้วย ซึ่งจำนวนเงินเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวแต่ละคนใช้จ่าย เพิ่มขึ้น 31% ระหว่างปี 2562 ถึงปี 2566
ตามรายงานประจำปีด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 38.8% เมื่อเทียบระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 กับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ตัวเลขนี้สูงกว่าการเติบโตของสเปน (30.7%) และอิตาลี (16.5%) ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่สหรัฐ (-4.3%) และสิงคโปร์ (-1.6%) กลับมีตัวเลขการใช้จ่ายลดลง
“ค่าเงิน” ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้สินค้า และบริการต่างๆ ในญี่ปุ่นมีราคาถูกลงในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในปี 2566 ค่าเงินเยนเฉลี่ยอยู่ที่ 140.58 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปี 2562
ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้า และบริการต่างๆ ในญี่ปุ่นด้วยเงินสกุลของตัวเองได้มากขึ้น และช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้คึกคัก
นอกจากนี้ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวและโอซาก้ามากกว่า ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังเมืองอื่นๆ แทน นอกเหนือจากเมืองใหญ่เหล่านี้
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะนำรายได้สู่แดนปลาดิบนี้ไม่น้อย แต่ก็นำมาซึ่ง “ความท้าทาย” หลายประการด้วย เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ยังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาได้ทัน อุตสาหกรรมโรงแรม และการบินที่เผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างมาก และปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่
ไม่เพียงเท่านั้น ภาคการท่องเที่ยวมีอีกความเสี่ยงสำคัญคือ ความผันผวนของสถานการณ์ต่างประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในปัจจุบันเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้ เพราะ “ภาคการท่องเที่ยว” กำลังมีสัดส่วนรายได้ต่อประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิง: nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์