BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

BDMS อัปเดตองค์ความรู้ “กระดุกพรุนเพชฌฆาตเงียบ” ได้รับการวินิจฉัย-รักษาน้อย เพราะป่วยไม่มีอาการจนเมื่อกระดูกหัก คุณภาพชีวิตแย่ พร้อมนำเสนอเทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยมาก กลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว

KEY

POINTS

  • BDMS ประชุมวิชาการร่วม ประจำปี 2567 พัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการ มุ่งเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยที่หลากหลายสาขาวิชาการ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  BDMS เผย “กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ”  คาดหญิงทั่วโลกกว่า 200 คน กระดูกพรุน โดย 1 ใน 5 เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ขณะที่หากปล่อยให้เกิดกระดูกหัก คุณภาพชีวิตแย่ลงและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น
  • กระดูกสะโพกหักซ้ำหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่สามารถซ่อมได้ ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อที่เป็นเทคนิคใหม่ ส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยมาก กลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดงานประชุมวิชาการร่วม ประจำปี 2567 “BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024” อย่างเป็นทางการ โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “A ROAD TO LIFELONG WELL-BEING : EP.2 UNLOCK THE HEALTHY LONGEVITY” ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย.2567 เพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการ 

กระดูกพรุนเสี่ยงกระดูกหักง่าย

สำหรับวันที่ 19 พ.ย.2567 ที่ BDMS Connect Center ในส่วนของศัลยกรรมกระดูก โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis: A Global Perspective and Treatment Updates): มุมมองระดับโลกและการอัปเดตการรักษา นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์  ศูนย์รักษากระดูกหัก ศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า คาดการณ์ทั่วโลกมีผู้ที่กระดูกพรุนราว 500 ล้านคน เป็นเพศหญิงราว 21 % เพศชาย 6.4 % จะเห็นได้ว่าอัตราพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 3 เท่า

หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของผู้หญิง ทั่วโลกน่าจะมีผู้ที่กระดูกพรุนอย่างน้อย 200 ล้านคน  โดย 1 ใน 5 เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัย ในจำนวนนี้เพียง 1 ใน 3 ที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และ 50 %ของผู้ที่ได้รับการรักษา จะรับการรักษาเพียง 6 เดือนแล้วหยุดยาเอง 

“กระดูกพรุน เกิดจากการที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกรวมถึงประเทศไทย คือ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยยังกังวลกับกระดูกพรุนน้อยมาก อาจจะเพราะเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดง คนไม่ได้ตรวจคัดกรอง มักจะทราบเมื่อเกิดกรณีกระดูกหัก ซึ่งผู้ที่มีอายุ  50 ปี ในเพศหญิง 1 ใน 3 เพศชาย 1 ใน 5 ในช่วงชีวิตจะต้องประสบกระดูกหักอย่างน้อย 1 ครั้ง”นพ.ทวีกล่าว
BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

ค่าใช้จ่ายหลังกระดูกหักเพิ่มขึ้น 30 %

กระดูกพรุนเป็นSilent Killer หรือเพชรฆาตเงียบ หลังกระดูกหักจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยอย่างมาก คุณภาพชีวิตแย่ลงหรืออาจเสียชีวิต อีกทั้ง เกิดภาระมหาศาลในการรักษา  อย่างประเทศในยุโรปต้นทุนหลังกระดูกหักเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2017 และคาดไปในปี 2030 เพิ่มขึ้น 30 %ของค่าใช้จ่ายในการรักษากระดูกหักจากความเปราะบาง  โดยกระดูกสะโพกหักมีปัญหามากที่สุด ต้องใช้เวลาดูแลมาก สำหรับประเทศไทย ข้อสะโพกหักเป็นปัญหาสำคัญ ล่าสุดมูลนิธิกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ระบุอุบัติการณ์ตั้งแต่ปี 2013-2019 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยอัตราประมาณ 30 %

สิ่งต้องทำเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน นพ.ทวี มองว่า จากที่ BDMS ดำเนินการเรื่องค้นหาผู้ป่วยกระดูกหักแล้วรักษาและฟื้นฟูได้ดีอยู่แล้ว จึงต้องทำในเรื่องการป้องกันระดับปฐมภูมิ(Primary Prevention) ด้วยการค้นหากลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็น กลุ่มเสี่ยงต่อการแตกหักสูงมาก  สูง ระหว่างกลาง และต่ำ นำมาสู่การดูแลตามความเสี่ยง โดยในกลุ่มเสี่ยงระหว่างกลางและต่ำ ให้อาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและออกกำลังกาย

กลุ่มเสี่ยงสูง เริ่มให้ยา และกลุ่มเสี่ยงสูงมากต้องเข้ารับการรักษากระดูกพรุน โดยยาที่ให้ดูผลประโยชน์และความสะดวกสบายของคนไข้เป็นหลัก ทั้งยายับยั้งการสลายตัวของกระดูกและยากระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ โดยในกลุ่มเสี่ยงสูงและสูงมากจะต้องควบคู่กับเสริมอาหารแคลเซียม วิตามินดีและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วย

สะโพกหักจากกระดูกพรุน คุณภาพชีวิตแย่ลง

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.คริสเตียน คามเมอร์แลนด์เดอร์  The AUVA Accident Hospital  นำเสนอว่า  ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่มีกระดูกสะโพกหัก มักเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การเคลื่อนไหวลดลงและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง มีเพียง 70% ของผู้ป่วยที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้หลังการรักษา 1 ปี และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ที่ 66%

จึงควรตรวจคัดกรองผู้ที่ยังไม่มีภาวะกระดูกหัก เพื่อป้องกันและลดโอกาสเกิดกระดูกหักในอนาคต ทั้งนี้ การรักษาควรเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ ด้วยการผสมผสานแพทย์เฉพาะทาง, การดูแลขั้นปฐมภูมิ และโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน  โดยต้องต่อเนื่อง เช่น การติดตามผลหลังการผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบรักษาในโรงพยาบาล มีการนำระบบการจัดการใหม่ เช่น โปรแกรมเร่งรัดสำหรับผู้ป่วยกระดูกหัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อน,ต้องปรับปรุงทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น เพิ่มบุคลากรอย่างพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายระยะยาวโดยการจัดการทรัพยากรและบุคลากรอย่างเหมาะสม

ระบบสุขภาพต้องให้ความสำคัญ

“โรคกระดูกพรุนถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการจัดการเชิงรุกทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและลดภาระต่อระบบสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น การรักษาโรคกระดูกพรุนและการฟื้นฟูผู้ป่วยต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระบบสุขภาพ จำเป็นต้องพัฒนากระบวนการรักษาอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกันจนถึงการฟื้นฟู และต้องได้รับการตระหนักว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวม”ศ.เกียรติคุณ ดร.คริสเตียนกล่าว

เทคนิคการผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกเทียมเมื่อหักซ้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ “แนวทางใหม่ในการจัดการการหักของกระดูกต้นขาหลังการผ่าตัดข้อต่อเทียม” นพ.พนธกร พานิชกุล รพ.กรุงเทพ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า  หลังคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกไปแล้วเกิดอุบัติเหตุล้ม ทำให้หักซ้ำบริเวณข้อสะโพกเทียมที่ผ่าตัดไปเกิดขึ้นได้ราว 2 % ถือว่าน้อยเพราะมีโอกาสล้มน้อย เว้นแต่เกิดอุบัติเหตุ แต่กว่า 90 % ล้มแล้วไม่หัก

BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

ทว่าเมื่อหักซ้ำเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะการที่กระดูกสะโพกหักซ้ำหลังเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่สามารถซ่อมได้ ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อที่เป็นเทคนิคใหม่ ส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยมาก กลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว โดยรพ.กรุงเทพมีการนำเทคนิคนี้มาใช้กว่า  10 ปี และผ่าตัดไปหลายพันคน ได้ผลดีมาก

“เมื่อมีการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุล้มและกระดูกหัก จะเสียเลือด มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อมากขึ้น  เนื้อเยื่อรอบๆข้อสะโพกเทียมที่เสียไปก็บากเจ็บมากขึ้น และการผ่าตัดซ่อมจะทำได้ยากกว่าเดิม แต่ด้วยเทคนิคเทคนิคการผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ทำให้การผ่าตัดที่เหมือนยากและฟื้นตัวได้ช้า กลับมาฟื้นตัวได้ไวขึ้นและเทียบเท่ามกล้เคียงเดิม”นพ.พนธกร กล่าว

ในผู้ป่วยที่กลับมาหักซ้ำที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวมาก และมีกระดูกพรุน เทคนิคการผ่าตัดนี้สามารถทำได้แต่จะมีความยากขึ้น แต่แพทย์ที่รพ.กรุงเทพมีประสบการณ์ในการใช้เทคนิคนี้และสามารถนำมาใช้ซ่อมกรณีหักซ้ำได้ด้วย ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบนี้ คือ แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านนี้  ทีมงานต้องช่วยเหลือกัน รพ.และเครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เอกซเรย์ในห้องผ่าตัดการใช้หุ่นยนต์ช่วย ทำให้การผ่าตัดได้สำเร็จและแม่นยำมากขึ้น

BDMS อัปเดต ‘กระดูกพรุนเพชฌฆาตเงียบ’-เทคนิคผ่าตัดซ่อมข้อสะโพกหักซ้ำ

ปฏิวัติการฟื้นฟู

พญ.ฐิติรัตน์ รักษ์วิทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.กรุงเทพ  นำเสนอเรื่อง “ก้าวไปข้างหน้า ,ยืนหยัดอย่างมั่นคง:การปฏิวัติการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดและการรับน้ำหนักในการฟื้นฟูสมรรถภาพ”ว่า อยากให้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดมากขึ้น จากเดิมโฟกัสเพียงการฟื้นฟูหลังผ่าตัดเท่านั้น โดยมีการให้ความรู้ทั้งคนไข้และญาติ มีการถามประวัติคนไข้การใช้ชีวิตเดิมของคนไข้ เช่น คนไข้มาด้วยข้อสะโพกหัก ก็จะถามว่าก่อนหน้านี้เดินด้วยไม้เท้าหรือไม่ ทำอะไรด้วยตนเองได้บ้าง เพื่อประเมินเป้าหมายหลังผ่าตัดที่ต้องการให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมมากที่สุด  รวมถึง สอนเรื่องการออกกำลังกาย การหายใจที่ควรทำหลังผ่าตัดและไม่ควรทำ  และการเตรียมบ้าน

“เท่าที่เก็บข้อมูลของรพ.กรุงเทพ สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ คนไข้จะทำความเข้าใจ เตรียมพร้อมเรื่องความเจ็บปวด ทำให้ง่ายต่อการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด และการออกกำลังกายการสอนก่อนผ่าเพราะหากสอนหลังผ่าตัดคนไข้จะมีความเจ็บอยู่ก็จะทำไม่ได้ และไม่เข้าใจ ซึ่งการจะให้บริการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดได้นั้น  ความพร้อมของบุคลากรมีความสำคัญ โดยที่รพ.กรุงเทพมีภายภาพบำบัดกว่า 100 คนและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเต็มเวลา 10 คนและพาร์ทไทม์ด้วย”พญ.ฐิติรัตน์กล่าว