วัยรุ่นญี่ปุ่น กว่า 50% ไม่รู้สึกผูกพัน ราชวงศ์ เหตุเสพโซเชียลมากกว่าสื่อดั้งเดิม
ผลสำรวจพบว่า วัยรุ่นญี่ปุ่น ไม่มีความสนใจใน ราชวงศ์ และไม่ได้รู้สึกผูกพันกับสถาบัน นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะเสพโซเชียลมากกว่าสื่อดั้งเดิม หรือราชวงศ์อาจต้องปรับตัวและเข้าถึงสื่อใหม่ ๆ มากขึ้น?
ผลสำรวจใหม่พบ วัยรุ่นญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ไม่มีความสนใจใน ราชวงศ์ และไม่ได้รู้สึกมีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เทรนด์ดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้าง และการครอบงำของสื่อดิจิทัลที่กำหนดกรอบการรับรู้ของคนหนุ่มสาว และมีการเผยแพร่เกี่ยวกับสถาบันอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติลดลง
ผลสำรวจดังกล่าวที่จัดทำโดย มูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) ในเดือน พ.ค. เก็บข้อมูลความคิดเห็นจากวัยรุ่นญี่ปุ่นในช่วงอายุ 17-19 ปี เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อราชวงศ์ พบ
- 55.7% บอกว่า ตนมีความสนใจน้อยหรือไม่มีความสนใจในราชวงศ์ญี่ปุ่น
- 53.4% บอกว่า ตนไม่รู้สึกใกล้ชิดกับจักรพรรดิหรือราชวงศ์เลย
จำนวนคนรุ่นใหม่เกือบครึ่งที่บอกว่าไม่มีความสนใจราชวงศ์ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีวิธีใดที่จะช่วยให้คนหนุ่มสาวสนใจมากขึ้น ขณะที่คนอีกครึ่งหนึ่งแนะว่า สมาชิกราชวงศ์อาจจะต้องสร้างความน่าดึงดูดด้วยการมีส่วนร่วมกับสาธารณชนผ่านโซเชียลมีเดีย
ยาชิฮิสะ นากาซากุ นักเรียนวัย 17 ปีจากโยโกฮาม่า ที่ไม่ได้ทำแบบสอบถามดังกล่าว เผยกับสื่อว่า ตนไม่เคยเห็นหรืออ่านเกี่ยวกับราชวงศ์ จึงไม่ค่อยรู้จักเกี่ยวกับสถาบันมากนัก และว่าตนให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวสอบ และใช้เวลาว่างไปกับเพื่อน ๆ และคิดว่าไม่เคยพูดถึงสถาบันกับเพื่อน ๆ เลย
นากาซากุ บอกว่า ตนรับรู้ข่าวสารจากโทรศัพท์มากกว่าสื่อดั้งเดิม และครั้งสุดท้ายที่เห็นจักรพรรดิในโทรทัศน์คือ พิธีบรมราชาภิเษกในเดือน ต.ค. 2562
ผลการสำรวจดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเนื่องจากชาวญี่ปุ่นให้การสนับสนุนราชวงศ์มาอย่างยาวนาน
ขณะที่ผลสำรวจที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคก่อนมีพิธีบรมราชาพิเษก พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 70% รู้สึกถึงสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ และผู้ตอบแบบสอบถามในสัดส่วนราว 70% มองว่า สถาบันกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของปุถุชน
ความสนใจสถาบันลดลงเพราะเอไอ-อัลกอริทึม
มาโกโตะ วาตานาเบะ ศาสตรจารย์สาขาการสื่อสารและสื่อจากมหาวิทยาลัย Hokkaido Bunkyo บอกว่า ความสนใจสถาบันใจที่ลดลงเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ และเห็นได้ชัดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอและอัลกอริทึม ที่เสนอเนื้อหาต่าง ๆ ให้พวกเขารับชม
ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะเห็นเนื้อหาที่ตนไม่ค่อยสนใจน้อยลงเรื่อย ๆ และความสนใจของพวกเขาจะแคบลง และถ้าพวกเขาไม่ได้สนใจในราชวงศ์มาก่อนเลย เนื้อหาเหล่านั้นก็จะไม่ปรากฏในโลกออนไลน์ของพวกเขา
ผลการสำรวจจากมูลนิธินิปปอนแสดงให้เห็นว่า มีเยาวชนญี่ปุ่นเพียง 5% เท่านั้นที่สนใจและรู้สึกผูกพันกับราชวงศ์ ซึ่งวาตานาเบะชี้ว่า สัดส่วนดังกล่าวสอดคล้องกับกลุ่มคน 4.6% ที่ติดตามอินสตาแกรม (Instagram) ของราชวงศ์ที่เปิดตัวโดยสำนักพระราชวังหลวง เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมของสถาบัน
อย่างไรก็ตาม วาตานาเบะ บอกว่า ความพยายามดังกล่าวไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มคนหนุ่มสาวญี่ปุ่น แต่เขาเชื่อว่าสำนักพระราชวังสามารถปรับปรุงข้อมูลหน้าเพจเพื่อดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้
“เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ สถาบันควรเน้นนำเสนอกิจกรรมของสมาชิกราชวงศ์ที่อายุน้อย”
สมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่คือต้นแบบ
ศาสตราจารย์จาก ม. Hokkaido Bunkyo ได้ยกตัวอย่าง การเยือนกรีซของเจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะว่า เป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางแฟชั่นได้อย่างดี และได้รับความสนใจจากสื่อในญี่ปุ่นจำนวนมาก
ขณะที่เจ้าหญิงไอโกะ โทชิโนะมิยะ พระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ได้รับความสนใจจากสื่อ และได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากการทรงงานหลายชั่วโมงในสำนักงานกาชาดระหว่างประเทศในกรุงโตเกียว
ศ.วาตานาเบะ บอกว่า ภาพการทรงงานของราชวงศ์ที่อายุยังน้อยเป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบที่ดี ที่สามารถดึงดูดความสนใจได้มาก
อ้างอิง: South China Morning Post