'พนมเปญ' แซงกทม. เป็นเมืองที่แพงที่สุด No.2 ใน SEA สำหรับแรงงานต่างชาติ

'พนมเปญ' แซงกทม. เป็นเมืองที่แพงที่สุด No.2 ใน SEA สำหรับแรงงานต่างชาติ

"กรุงพนมเปญ" ขยับขึ้น 9 อันดับจากปีก่อน กลายเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ No.2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ขณะที่กทม.ค่าครองชีพแพงอันดับ 3 ใน SEA ร่วงจากปีก่อน 24 อันดับ

สำนักข่าวขแมร์ไทม์ส (Khmertimes) รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (27 มิ.ย.) ว่า กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลายเป็นเมืองที่แพงขึ้นมากใน 1 ปี โดยขยับขึ้นมา 9 อันดับ สู่เมืองที่แพงสำหรับแรงงานต่างชาติเป็นอันดับ 123 ของโลก เนื่องจากต้นทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เชื้อเพลิง และของชำแพงขึ้น

ดัชนีค่าครองชีพเมอร์เซอร์ (Mercer) ล่าสุด ระบุว่า กรุงพนมเปญยังกลายเป็นที่แพงที่สุดอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และเป็นเมืองที่แพงกว่ากรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 129), มะนิลา(131),จาการ์ตา (157), และกัวลาลัมเปอร์ (200) ซึ่งทิ้งห่างอันดับไปไกลมาก

ส่วนเมืองที่แพงที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลกคือ ฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งแพงกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศยุโรป อย่างกรุงลอนดอน และกรุงอัมสเตอร์ดัม

10 อันดับเมืองที่แพงที่สุดในโลกสำหรับแรงงานต่างชาติ ปี 2567

1. ฮ่องกง จีน

2. สิงคโปร์

3. ซูริกสวิตเซอร์แลนด์

4. เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

5. บาเซิลสวิตเซอร์แลนด์

6. เบิร์นสวิตเซอร์แลนด์

7. นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐ

8. กรุงลอนดอน อังกฤษ

9. กรุงแนสซอ บาฮามาส

10. ลอสแองเจลิส สหรัฐ

เมอร์เซอร์ระบุในรายงานว่า กรุงพนมเปญเป็นเมืองที่แพงเนื่องจากเงินเฟ้อและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จ่ายและการออมของแรงงานต่างชาติที่ออกมาทำงานต่างประเทศ (หรือแรงงานต่างชาติที่ได้รับมอบหมายงานในต่างประเทศ)

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และการศึกษา

รายงานเมอร์เซอร์ ระบุว่า เมืองที่มีอันดับสูงขึ้น เป็นเพราะตลาดที่อยู่อาศัยมีราคาแพง, ค่าใช้จ่ายรถโดยสารสาธารณสูง และต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น

ในทางกลับกันกรุงอิสลามาบัด เมืองลากอส และกรุงอาบูจา มีค่าครองชีพสำหรับแรงงานต่างชาติที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากค่าเงินอ่อนค่าลง ขณะที่การทำธุรกรรมทางการเงินในกรุงพนมเปญมากกว่า 80% ใช้เป็นเงินสกุลดอลลาร์ ไม่ใช่เงินเรียล จึงมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงระดับโลก มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

แม้เปรียบเทียบในเอเชีย กรุงพนมเปญยังอยู่ในอันดับที่สูงกว่าเมืองมุมไบ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพง เพราะมีต้นทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สูงมากเกินไป และเมืองหลวงของกัมพูชายังเป็นเมืองที่แพงกว่ากรุงธากาในบังกลาเทศ กรุงนิวเดลีในอินเดีย และกรุงจาการ์ตาในอินโดนีเซีย ในแง่ของราคาสินค้าที่แพงมาก

10 อันดับเมืองที่ถูกที่สุดสำหรับแรงงานต่างชาติ ปี 2567

1. กรุงอาบูจา ไนจีเรีย

2. ลากอส ไนจีเรีย

3. กรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน

4. กรุงบิชเคก คีร์กีซสถาน

5. การาจี ปากีสถาน

6. แบลนไทร์ มาลาวี

7. ดูชานเบ ทาจิกิสถาน

8. เดอร์บาน แอฟริกาใต้

9. กรุงวินด์ฮุก นามิเบีย

10. กรุงฮาวานา คิวบา

จากการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในแต่ละวันของเมอร์เซอร์ อาทิ ราคาไข่ไก่ใบใหญ่ 12 ฟอง, น้ำมันปาล์ม 1 ลิตร ค่ากาแฟเอสเปรสโซ่ในร้านคาเฟ่ที่นิยม, น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร, กางเกงยีนส์ 1 ตัว และค่าใช้จ่ายตัดผมของผู้หญิง พบว่า กรุงพนมเปญเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต้นทุนด้านอาหารเพิ่มขึ้น

เมอร์เซอร์ระบุว่า ต้นทุนที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น ซึ่งในระหว่างปี 2566-2567 รายงานดังกล่าวพบว่า ต้นทุนอสังหาฯผันผวนอย่างมากทั่วโลก และราคาเช่าที่อยู่อาศัยก็แตกต่างกันมากในระหว่างเมืองต่าง ๆ

สาเหตุที่ทำให้ราคาอสังหาฯเพิ่มขึ้น คือ การขาดแคลนอสังหาฯที่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรที่กำลังมองหาที่อยู่ ด้วยอุปทานและอุปสงค์ที่ไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้ค่าครองชีพของแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย และความท้าทายด้านราคาก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีการเติบโตของประชากรสูง หรือมีที่ดินให้พัฒนาอย่างจำกัด

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น ต้นทุนค่าก่อสร้าง และราคาที่ดินก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งส่งผลให้แรงงานต่างชาติบางคนอาจมีต้นทุนค่าที่อยู่อาศัยแพงกว่าที่อยู่ในประเทศบ้านเกิดตนเอง และนำไปสู่การมีรายได้ที่ลดลง จึงใช้จ่ายอย่างอื่นได้น้อยลง

นอกจากนี้ ปัจจัยเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดความเครียดจากปัญหาทางการเงิน และมาตรฐานค่าครองชีพลดลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อกำลังใจและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานต่างชาติ

ฉะนั้น ต้นทุนด้านที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างความท้าทายให้กับกรุงพนมเปญ ในการดึงดูดและรักษาแรงงานต่างชาติที่มีความสามารถ รายงานจึงได้แนะให้บรรษัทต่างชาติอาจจัดหาแพ็คเกจค่าตอบแทนให้เพิ่มเติม เช่น เงินอุดหนุนที่อยู่อาศัย เพื่อให้พนักงานของตนสามารถต่อสู้กับความเป็นจริงในตลาดอสังหาฯปัจจุบัน

 

อ้างอิง:  Khmer Times, Mercer