ดับหวังพึ่งคอนเสิร์ตนอก ‘เศรษฐกิจสวิฟต์’ ไม่มีอยู่จริง

ดับหวังพึ่งคอนเสิร์ตนอก ‘เศรษฐกิจสวิฟต์’ ไม่มีอยู่จริง

ดับฝันประเทศที่หวังพึ่งคอนเสิร์ตจากศิลปินเมืองนอก โดยเฉพาะคอนเสิร์ตของ "เทย์เลอร์ สวิฟต์" เพราะ “เศรษฐกิจสวิฟต์” (Swiftonomics) นั้น ไม่มีอยู่จริง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ แค่ชั่วคราว แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

เทย์เลอร์ สวิตฟ์ ศิลปินหญิงตัวแม่แห่งวงการเพลงป๊อป กำลังเขย่าทวีปยุโรปด้วยการทัวร์คอนเสิร์ต ดิ เอราส์ ทัวร์ (The Eras Tour) ผู้เชี่ยวชาญบางคนต่างคาดหวังถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรดาสวิฟตี้แห่ซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตที่มีอยู่หลาย 10 รอบทั่วยุโรปจนหมดเกลี้ยง ตั้งแต่กรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ ไปจนถึงกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

คอนเสิร์ตของสวิฟต์ ก็เหมือนกับงานโอลิมปิกปารีส 2024 และงานแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ที่ถือได้ว่าเป็น “ความหวัง” ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทวีปที่เพิ่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาเกือบตลอด 2 ปี แต่ติดปัญหาอย่างหนึ่ง คือ “เศรษฐกิจสวิฟต์” (Swiftonomics) นั้น ไม่มีอยู่จริง

ดับหวังพึ่งคอนเสิร์ตนอก ‘เศรษฐกิจสวิฟต์’ ไม่มีอยู่จริง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้สวิฟต์อาจเป็นถึงศิลปินระดับเมกะสตาร์ (megastar) ที่ปฏิวัติวงการเพลง แต่เมื่อความไฮบ์หรือความตื่นเต้นจากคอนเสิร์ตจบลง ก็จะถึงเวลาที่ต้องใช้แว่นขยายเพ่งหากันอย่างจริงจังว่ามันสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้จริงๆ หรือไม่ และกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

เมืองนี้จัดคอนเสิร์ตของสวิฟต์ 3 วันในเดือนพ.ค. ซึ่งมีคนไปร่วมงานทั้งหมด 180,000 คน จำนวนผู้ชมคอนเสิร์ต 50% มาจากต่างประเทศ และการจัดคอนเสิร์ต ดิ เอราส์ ทัวร์ หนุนให้เมืองมีรายได้เกือบ 81 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3,000 ล้านบาท

แม้คอนเสิร์ต 3 วันสร้างรายได้ให้เมืองได้มหาศาล แต่เม็ดเงินดังกล่าวยังเป็นเพียงรายได้ที่น้อยมากๆ สำหรับเศรษฐกิจสวีเดนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ในสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อปีอยู่ที่ 623,000 ล้านดอลลาร์

คาร์ล เบิร์กวิสต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากหอการค้าสตอกโฮล์ม บอกว่า รายได้ก้อนใหญ่จากสวิฟต์ กระตุ้นเศรษฐกิจในสตอกโฮล์มได้มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ช่วยกระตุ้นแค่ในช่วงสุดสัปดาห์ และไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หอการค้าสตอกโฮล์ม คาดว่า บรรดาโรงแรม และร้านอาหาร มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการจัดคอนเสิร์ตของสวิฟต์ แม้แต่ยอดขายหมวกคาวบอยยังพุ่งสูงถึง 155%

อย่างไรก็ตาม คอนเสิร์ตของสวิฟต์ยังไม่ทำให้เห็น “ผลกระทบด้านราคา” มากนัก และอาจส่งผลน้อยกว่าคอนเสิร์ตของ บียอนเซ่ (Beyonce) ในกรุงสตอกโฮล์มเมื่อปีก่อนด้วยซ้ำ งานในครั้งนั้นเป็นมหกรรมคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ถึงขั้นที่สร้างความกังวลเรื่อง “เงินเฟ้อ” พุ่งขึ้นชั่วคราวมาแล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็น “บียอนเซ่ เอฟเฟกต์” จริงๆ หรือไม่ อัตราเงินเฟ้อที่เคยพุ่งไปถึงราว 10% ในขณะนั้น ก็ทยอยปรับตัวลดลงจนมาสู่ระดับกว่า 2% ในปัจจุบันแล้ว

หากถามว่าคอนเสิร์ตของสวิฟต์ในครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์ Taylor Swift effect หรือไม่ คาร์สเทน เบรสกี นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจี ธิงค์ เชื่อว่าส่งผลน้อยมาก หรืออย่างมากก็แค่เกิดขึ้นชั่วคราว

เบรสกี ระบุ ด้วยว่ามีงานวิจัยมากมายที่ออกมาสรุปภาพรวมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคร่าวๆ ในช่วงก่อนถึงงานใหญ่ ๆ แต่ความเป็นจริงหลังจากนั้น ต้องมีแว่นขยายเพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์เหล่านั้นเป็นตัวเลขให้ได้จริง ๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับงานโอลิมปิกปารีส 2024 หรืองานฟุตบอลยูโร 2024 เช่นกัน

แน่นอนว่างานมหกรรมกีฬาทั้งสองรายการนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหาร ผู้จำหน่ายเบียร์ และผู้จำหน่ายสินค้าต่างๆ แต่งานเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการบริโภคตลอดไป

ดับหวังพึ่งคอนเสิร์ตนอก ‘เศรษฐกิจสวิฟต์’ ไม่มีอยู่จริง

ศาสตร์จารย์ไซมอน ชิบลิ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ แฮลลัมในอังกฤษ อธิบายว่า การใช้จ่ายของลูกค้าที่เกิดขึ้นในงานใหญ่ๆ เป็นรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว และอาจกลายเป็นการใช้จ่ายในรูปแบบการทดแทน ตัวอย่างเช่น หากเงินที่ใช้จ่ายไปกับตั๋วคอนเสิร์ต หรือโรงแรม มาจากเงินที่ใช้ภายในครอบครัว หมายความว่า ครัวเรือนนั้นๆ จะเหลือเงินใช้จ่ายอย่างอื่นน้อยลงไปด้วย เช่น การใช้จ่ายค่าอาหาร หรือการท่องเที่ยวที่อื่นๆ

“ดัชนีเบียร์สด” ของธนาคาร Danske ก็เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่กระตุ้นเศรษฐกิจบางอุตสาหกรรมเพียงชั่วคราว โดยดัชนีเบียร์สดพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่เดนมาร์กลงแข่งขันยูโรแชมเปี้ยนชิปครั้งก่อน ขณะที่รายได้ในผับ และร้านอาหารเพิ่มสูงถึง 106% ในเกมที่เดนมาร์กเจอกับอังกฤษ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

เพียต ไฮน์ส คริสเตียนเซน จาก Danske บอกว่า งานแข่งขันเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค ซึ่งจะมีผลกระทบเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และแค่ชั่วคราว และงานใหญ่ๆ เหล่านั้นจะส่งผลกับบางภาคส่วนในอุตสาหกรรม เช่น โรงแรม และสถานที่ต่างๆ ที่สวิฟต์เดินทางไป หรือมีผลกับยอดขายเบียร์ในประเทศต่างๆ ที่มีการลงแข่งขันฟุตบอล

เมื่อเดือนก่อนซีเอ็นบีซีเปิดเผยคาดการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของสวิฟตี้จากธนาคารบาร์เคลย์สบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายต่อหัวราว 848 ปอนด์ ของผู้เข้าร่วมราว 1.2 ล้านคน ในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นทั้ง 12 คืน อาจสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรราว 997 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4.63 หมื่นล้านบาท

ธนาคารคาดการณ์ด้วยว่า กลุ่มคนที่มาคอนเสิร์ตสวิฟต์อาจซื้อสินค้าจากร้านค้าออฟฟิเชียลเฉลี่ย 79 ปอนด์ต่อคน (ราว 3,700 บาท) และใช้จ่ายไปกับอาหารก่อนเริ่มคอนเสิร์ต 59 ปอนด์ต่อคน (ราว 2,800 บาท) นอกจากนี้ อาจใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 216 ปอนด์ (ราว 10,000 บาท) ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่ม และแผ่นเสียงไวนิล

รอยเตอร์ส ระบุว่า คาดการณ์ดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งหากอ้างอิงผลแห่งการใช้จ่ายแบบทดแทนของศ.ไซมอน จะพบว่า สวิฟตี้ในสหราชอาณาจักรก็จะไม่มีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มเติม และความเป็นจริงคือ รายได้หลักจากการทัวร์คอนเสิร์ตของสวิฟต์จะเข้าประเทศสหรัฐอยู่ดี ทำให้ผลประโยชน์แทบไม่ตกมาถึงท้องถิ่นที่จัดคอนเสิร์ต

สำหรับประเทศที่มีขนาดเทียบเท่ากับอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว รายได้เหล่านี้ยังถือว่าเล็กน้อยมากจนแทบไม่ส่งผลต่อบัญชีการค้าของประเทศเหล่านี้ในแง่ของสเกลรายได้ เพราะในเดือนเม.ย. เพียงเดือนเดียว กลุ่มยูโรโซน 20 ประเทศ มีการเกินดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านยูโร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์