ฮับผลิต SEA จ่อขึ้นค่าจ้าง สะเทือน ‘ธุรกิจพึ่งแรงงาน’ เผ่นหนี
เมื่อฮับการผลิตที่สำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายโลก จ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ บรรดาธุรกิจต่างชาติที่หันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างกังวลว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจพึ่งแรงงานจำนวนมาก
KEY
POINTS
- การปรับขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อข้อได้เปรียบที่สำคัญของเวียดนาม โดยเฉพาะหลายธุรกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
- ประเทศไทย และขุมพลังการผลิตอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนขึ้นค่าแรงรายวันขั้นต่ำสู่ระดับ 400 บาทต่อวัน โดยจะเริ่มมีผลเดือน ต.ค. เป็นต้นไป
- การปรับขึ้นค่าแรงที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในกรุงมะนิลาเร็ว ๆ นี้ อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากเงินเปโซอ่อนค่า ทำให้สูญเสียกำลังซื้อ
ศูนย์กลางการผลิตแห่งสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จ่อทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งต้องกลับไปทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่อีกครั้ง ในขณะที่ภูมิภาคกำลังดึงดูดเงินลงทุนได้มากขึ้น และกลายเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อวันอังคาร (2 ก.ค.) ว่า ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ ปัจจุบันจึงการันตีได้ว่าแรงงานในเวียดนามจะมีรายได้ 4.96 ล้านดองต่อเดือน หรือราว 7,200 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นประมาณ 80% เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ขณะที่คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเวียดนาม อาจขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“เวียดนาม” กลายเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด สะท้อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตแข็งแกร่ง และสามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้จำนวนมาก ซึ่งปัจจัยที่ดึงดูดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจาก “ค่าแรงงานถูก” และประเทศตั้งอยู่ใกล้กับจีน
อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามที่สูงขึ้น ยังคงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับตั้งแต่ 200 ดอลลาร์ขึ้นไป หรือราว 7,400 บาท และแม้ค่าแรงขั้นต่ำในเวียดนามยังคงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงปักกิ่งที่ระดับ 2,420 หยวน หรือประมาณ 12,200 บาท แต่การปรับขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อข้อได้เปรียบที่สำคัญของเวียดนาม โดยเฉพาะหลายธุรกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor-intensive industry) เช่น อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมตัดเย็บ
“อากิระ มิยาโมโตะ” ผู้อำนวยการทั่วไปของซูเฟ็กซ์ เทรดดิง (Sufex Trading) บริษัทที่ปรึกษาในเวียดนามที่ช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นหาพื้นที่ทำธุรกิจ บอกว่า ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับต้นทุนค่าแรงสูงทำให้หลายบริษัทเตรียมพิจารณาขยายธุรกิจออกไปนอกเขตเมืองใหญ่
เวียดนามกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใน 4 ภูมิภาค และค่าแรงในพื้นที่เมืองใหญ่มีมูลค่ามากกว่าค่าแรงในภูมิภาคที่พัฒนาน้อยกว่าอยู่ 40% อย่างไรก็ตาม มิยาโมโตะย้ำว่า ค่าแรงไม่ใช่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ราคาที่ดินด้านอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่รอบ ๆ โฮจิมินห์
ขณะที่ประเทศไทย และขุมพลังการผลิตอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนขึ้นค่าแรงรายวันขั้นต่ำสู่ระดับ 400 บาทต่อวัน โดยจะเริ่มมีผลเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นราว 14% จากระดับค่าแรง 300-350 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่า แรงงานจะมีค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนประมาณ 237 ดอลลาร์ หรือราว 8,700 บาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพล
“ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดังกล่าวเมื่อเดือน พ.ค.ว่า “นโยบายผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง” เนื่องจากดร.พจน์ เชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำระดับใหม่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม
ประเทศฟิลิปปินส์ ประกาศเมื่อวันจันทร์ (1 ก.ค.) ว่า จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่เมืองหลวงมะนิลา สู่ระดับ 645 เปโซต่อวัน หรือราว 404 บาทต่อวัน หรือประมาณ 8,900 บาทต่อเดือน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. เป็นต้นไป และก่อนหน้านี้ในปี 2566 รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันเล็กน้อยเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ
การปรับขึ้นค่าแรงที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในกรุงมะนิลาเร็ว ๆ นี้ อาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากเงินเปโซอ่อนค่า ทำให้สูญเสียกำลังซื้อ
“ซันนี แอฟริกา” กรรมการบริหารมูลนิธิไม่แสวงผลกำไร IBON เผยว่า “ในอดีตค่าจ้างปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเสมอ และขึ้นอยู่กับว่านายจ้างยินดีจ่ายเท่าไร และไม่ได้อ้างอิงจากความต้องการของลูกจ้าง”
แม้คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง แต่ธุรกิจท้องถิ่นฟิลิปปินส์ยังคงกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ดี
หอการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุด ออกมาแถลงเมื่อเดือน ก.พ. ว่า การขึ้นค่าจ้างอาจทำให้นักลงทุนถอดใจ
“ไม่มีใครอยากไปหาฟิลิปปินส์ เมื่อพวกเขาเห็นว่าผู้บัญญัติกฎหมายสามารถออกกฎหมายขึ้นค่าจ้างเมื่อใดก็ได้ และมองข้ามเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ" แถลงการณ์ ระบุ
สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำในมาเลเซีย อาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ ซึ่งล่าสุดประเทศปรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำไปเมื่อปี 2556 และทำให้ค่าครองชีพปรับเปลี่ยนไปนับแต่นั้น ต่อมาในปี 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วมาเลเซียเพิ่มสู่ระดับ 1,500 ริงกิตต่อเดือน (ราว 11,700 บาท)
ในปีนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้นำเสนอโครงการค่าแรงใหม่ เรียกว่า นโยบายค่าจ้างแบบก้าวหน้า (Progressive Wage Policy) เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างในอุตสาหกรรมเฉพาะ ปรับขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้ต่ำ
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ ประเด็นการเติบโตของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะที่สูงขึ้นและประสิทธิผลในการทำงานดีขึ้น กรอบค่าจ้างรายอุตสาหกรรม และมาตรการการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข
ปัจจุบันนโยบายค่าจ้างแบบก้าวหน้าเตรียมเป็นนโยบายที่นำไปใช้ได้ตามความสมัครใจของนายจ้าง
อ้างอิง: Nikkei Asia