สื่อนอกมอง EV จีนแห่ลงทุนไทย ดันเป็นฐานระบายสินค้าส่วนเกิน จ่อลดราคาต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ ประเมิน แบรนด์อีวีจีน แห่ลงทุนในไทยต่อเนื่องหวังระบายสินค้าส่วนเกิน เชื่อเตรียมลดราคาต่อเนื่อง หลังพบราคาในไทยยังแพงกว่าจีนเกือบล้าน
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า บีวายดี (BYD) ผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวางแผนเปิดโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดระยองประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 486 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท) ท่ามกลางสมรภูมิลดราคารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาราคาบีวายดี เอสยูวี รุ่น Atto 3 ลดลงมากถึง 3.4 แสนบาท (9,234 ดอลลาร์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดขายรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยอดปฏิเสธสินเชื่อที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ โรงงานแห่งใหม่ของบีวายดีนี้มีกำลังการผลิตสูงถึง 1.5 แสนคันต่อปี และจะใช้เพื่อผลิต และจัดส่งรถยนต์ของบีวายดีออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปด้วย
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานเพิ่มเติมว่า การเปิดโรงงานในวันนี้ยังเป็นวันเดียวกันกับที่สหภาพยุโรป (EU) ใช้มาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็นวันแรกอีกด้วย โดยเป็นการเก็บภาษีการนำเข้าเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 10% เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับแบรนด์รถยนต์ภายในประเทศ หลังจากที่ทางการสันนิษฐานว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเองจนกระทบการแข่งขันในตลาดเสรี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนปฏิเสธว่า การให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้เปรียบในการแข่งขันเพราะเทคโนโลยี และห่วงโซ่อุปทาน
บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า อัตราภาษีการนำเข้าเพิ่มเติมที่ 17.4% สำหรับรถยนต์ของบีวายดีถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในบรรดาอัตราภาษีที่สหภาพยุโรปกำหนดให้แบรนด์อื่น
รายชื่อการลงทุนด้านอีวีในประเทศไทย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ท่าทีของอียูครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์จีนในวงจำกัดเนื่องจากในช่วงเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. มียอดการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนไปยังยุโรปตะวันตกอยู่ที่เพียง 10% ของยอดการส่งออกทั้งหมด
ทว่า ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าสินค้าคงคลังส่วนเกินที่เริ่มสะสมในจีนเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงอาจจะไหลเข้าสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ตามคำเตือนจากนักวิเคราะห์ และผู้เล่นในอุตสาหกรรมท้องถิ่น
“ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอยู่ในช่วงลดสต๊อกสินค้า ดังนั้นอาจมีรถยนต์จำนวนมากขึ้นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะไม่สามารถส่งไปยุโรปได้ และประเทศไทยไม่มีภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในประเทศไทย” นายนฤดม มุจจลินทร์กูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรีกล่าว
บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ของไทยอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปสรรคทางการค้าที่ต่ำโดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยเสนอการลดภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนซึ่งนำเข้าโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมข้อแลกเปลี่ยนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างโรงงานผลิตในประเทศ
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปมากที่สุด
ณ สิ้นปีที่ 2566 บีวายดีครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่ 40% โดยได้รับการสนับสนุนจากข้อเสนอราคาที่ดึงดูดใจ และการตลาดที่แยบยลโดยผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย คือ บริษัท เรเวอร์ ออโตโมทีฟ (Rever Automotive) ส่วนคู่แข่งจากจีนอย่างเนต้า (Neta) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) มีส่วนแบ่งการตลาดรองลงมาที่ 17% และ 16% ตามลำดับ
เมื่อเร็วๆ นี้ นีต้าประกาศลดราคารถเอสยูวี รุ่น V-II ลง 5 แสนบาทหรือลดลง 8% ส่วนราคารถรุ่นใหม่อย่าง บีวายดี ดอลฟิน (BYD Dolphin) ถูกกว่าตอนเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วประมาณ 18-26%
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า บีวายดีอาจเสนอส่วนลดที่มากขึ้นไปอีก เนื่องจากราคาในประเทศไทยยังคงสูงกว่าราคาในประเทศจีนประมาณ 2,700 ดอลลาร์ (ประมาณ 9.45 แสนบาท)
ด้านทีมนักวิเคราะห์จากเอสเอชบีซี (HSBC) ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของยอดขาย และส่วนแบ่งตลาดของบีวายดี แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทลง 8% ก็ตาม
"เราเชื่อว่าคู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของบีวายดีได้ง่ายๆ ซึ่งได้รับการเสริมสร้างจากนวัตกรรมที่สั่งสมมาเป็นทศวรรษ และความสามารถในการบูรณาการที่ไม่เหมือนใคร"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์