'ไทย' มอง 'จีน' มุมบวกมากที่สุดในโลก ผลสำรวจนำโด่ง 80% ประเทศเดียว
Pew Research เผยผลสำรวจมุมมอง 35 ประเทศทั่วโลกที่มีต่อ 'จีน' พบ 'ไทย' มหามิตรมองบวกมากที่สุดทั้งภาพรวม และในเชิงเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้สูงมองลบมากที่สุด
ศูนย์วิจัยพิวรีเสิร์ชในสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น 35 ประเทศทั่วโลกถึงมุมมองที่มีต่อ "จีน" พบว่า "ประเทศไทย" มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้งในแง่ภาพรวม และมุมมองเชิงเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนมากที่สุด ซึ่งสะท้อนถึง "อิทธิพลทางเศรษฐกิจ" ของจีนที่มีต่อประเทศเหล่านี้ สวนทางกับกลุ่มประเทศรายได้สูงในอเมริกาเหนือ และยุโรป
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 44,166 คนใน 35 ประเทศ ระหว่างเดือนม.ค.- พ.ค.2567 ระบุว่า เกือบทุกประเทศที่สำรวจซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค และแบ่งกลุ่มตามรายได้ประเทศ ต่างระบุตรงกันว่า จีนมีอิทธิพลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศตนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับที่เคยสอบถามเมื่อ 5 ปีก่อน
แต่เมื่อถามถึงอิทธิพลดังกล่าวว่าเป็น "เชิงบวก" หรือ "เชิงลบ" มากกว่ากัน ผลสำรววจพบว่า กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นบวกกับจีน มากกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูง
โดยใน 17 ประเทศรายได้ปานกลางนั้น มีค่าเฉลี่ยมุมมองเชิงบวกต่อจีนถึง 47% มากกว่ามุมมองเชิงลบซึ่งอยู่ที่ 29% ส่วนในกลุ่มประเทศรายได้สูง 18 ประเทศนั้นมองบวกเพียง 28% แต่มองลบสูงถึง 57% นำโดย "สหรัฐ" ที่มองลบมากที่สุดถึง 3 ใน 4
'ไทย' มหามิตรมอง 'จีน' มุมบวกมากที่สุด
ผลสำรวจในภาพรวมที่สอบถามมุมมองเพียง “ชอบ/ไม่ชอบ” จีนนั้นพบว่า “ประเทศไทย” มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนมาเป็นอันดับ 1 ที่สัดส่วนชอบ 80% ต่อไม่ชอบ 18% และเป็นประเทศเดียวที่มีมุมบวกสูงกว่า 80% ตามมาด้วย ไนจีเรีย เคนยา ตูนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนค่าเฉลี่ยของ 35 ประเทศนั้น อยู่ที่ชอบ 35% และไม่ชอบ 52%
เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มมองบวกอันดับ 2-4 นั้น เป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในแอฟริกาที่มีความสัมพันธ์กับจีนเพิ่มขึ้นมากผ่านยุทธศาสตร์การลงทุนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)
ในขณะที่ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นประเทศที่มีการค้า และการลงทุนในระดับสูงกับจีนมาอย่างยาวนาน และได้อานิสงส์มากขึ้นในระยะหลังในฐานะประเทศ China+1 ที่ซัพพลายเออร์ในจีนกระจายความเสี่ยงออกมายังประเทศในแถบอาเซียนมากขึ้น โดยสิงคโปร์ยังเป็นเพียงชาติเดียวในกลุ่มประเทศรายได้สูง ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนในลำดับต้นๆ อีกด้วย
ทั้งนี้หากแบ่งการสำรวจตามรายได้ประเทศพบว่า ในประเทศที่มีรายได้สูง 18 ประเทศ มองจีนในด้านลบไปแล้วถึง 15 ประเทศ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่มองจีนในแง่ลบสูงที่สุด โดยกว่า 8 ใน 10 ของประชากรในประเทศมีทัศนคติเชิงลบต่อจีน ในทางตรงกันข้าม ในบรรดา 17 ประเทศรายได้ปานกลางนั้น พบว่ามีประเทศที่มองจีนในด้านบวกถึง 14 ประเทศ
มองธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนเป็นบวก
พิวรีเสิร์ชยังได้สำรวจมุมมอง 9 ประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีต่อ "บริษัทสัญชาติจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศของตนเอง" พบว่า กลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยถึง 81% มองว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ อีก 66% เชื่อว่าธุรกิจจีนมีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมดีพอ และอีก 72% มองว่าธุรกิจจีนดูแลการจ้างงานคนในประเทศอย่างเป็นธรรม โดยสัดส่วนของไทยนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดของ 9 ประเทศ
การสำรวจในมุมมองที่มีต่อธุรกิจสัญชาติจีนนั้น มีเพียง 4 ประเทศที่มีมุมมองเชิงบวกสูงกว่าค่าเฉลี่ย คือ ไทย เคนยา บังกลาเทศ และศรีลังกา ในขณะที่ "อินเดีย" มีมุมมองเชิงบวกต่อจีนในหัวข้อนี้ต่ำที่สุดในกลุ่ม 9 ประเทศ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์