สัมพันธ์ยั่งยืน‘ฝรั่งเศส-ไทย’ ต่อยอดมิตรภาพสยาม 340 ปี

สัมพันธ์ยั่งยืน‘ฝรั่งเศส-ไทย’ ต่อยอดมิตรภาพสยาม 340 ปี

เปิดสารจาก "นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ" เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย แบ่งปันข้อมูลภาพรวมความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยที่ก้าวหน้าอย่างมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา หลังการเยือนไทยของเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

เนื่องในโอกาสวันชาติฝรั่งเศส 14 ก.ค.2567 นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย แบ่งปันข้อมูลภาพรวมความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยที่ก้าวหน้าอย่างมากในช่วงแรกของการปฏิบัติหน้าที่ 

นายปวงเบิฟเข้ารับหน้าที่เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2566 ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการเยือนไทยของนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อเดือนพ.ย. 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค 

ในปี 2566 ฝรั่งเศสและไทยมีการแลกเปลี่ยนมากมายสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย นำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดความสัมพันธ์ในสาขาที่มีศักยภาพต่าง ๆ

การแลกเปลี่ยนระดับสูงของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 จากการเยือนฝรั่งเศสทั้ง 2 ครั้งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ครั้งแรกในเดือนมี.ค. 2567 นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันและหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและกลาโหมเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส และช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอาเซียน 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนฝรั่งเศสหลายรายเพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและแสวงหาแนวทางความร่วมมือใหม่ ๆ หลังกลับจากการเยือนได้ไม่กี่สัปดาห์ ผู้บริหารองค์กร Comité Colbert ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของฝรั่งเศสที่มีสมาชิกประกอบด้วยแบรนด์สินค้า Luxury และสถาบันทางวัฒนธรรม ก็ได้มาเยือนไทยตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ Soft Power ซึ่งเป็นด้านที่ฝรั่งเศสมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

นายกรัฐมนตรีได้กลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 เพื่อร่วมงาน Thailand-France Business Forum ซึ่งจัดขึ้นสืบเนื่องจากการหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567 เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อกัน โดยในปี 2566 ฝรั่งเศสและไทยมีการค้าระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านยูโร มีภาคเอกชนฝรั่งเศสทั้งที่เป็นบริษัทลูกและ SME ประกอบธุรกิจในไทยรวมเกือบ 300 บริษัท มีการจ้างงานกว่า 45,000 คน การลงทุนจากฝรั่งเศสในไทยมีมูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านยูโร 

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศได้ใช้โอกาสนี้ขยายความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงาน คมนาคม เศรษฐกิจหมุนเวียน เกษตรอาหาร และการท่องเที่ยว รวมทั้งได้ลงนามในเอกสารความตกลงหลายฉบับ ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ 2 โดยได้มีการเน้นย้ำความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนซึ่งจะมีความสำคัญต่อการสร้างเสาหลักด้านเศรษฐกิจในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอนาคต

ความร่วมมือฝรั่งเศส-ไทยกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นจากการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันดำเนินความร่วมมือในประเด็นระดับโลกที่สำคัญโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานฝรั่งเศสในไทย ได้แก่ สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) และ Business France ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดย AFD  จัดการสัมมนาเวทีการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และการหารือเชิงนโยบายกับกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาเมืองเพื่อตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน Business France ได้ประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเศรษฐกิจของไทย

"ผมหวังว่าความร่วมมือที่ก้าวหน้าดังกล่าวจะดำเนินสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการสำหรับการครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อกันครั้งแรกระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในปี 2568 และการครบรอบ 170 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ฝรั่งเศสในปี 2569 การเตรียมการดังกล่าวจะเป็นการฉลองวาระสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศและเป็นการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต" ทูตฝรั่งเศสกล่าวทิ้งท้าย