‘โอลิมปิก 2024’ ยอมแหกกฎรักษ์โลก ติดแอร์ 2,500 ตัวในหมู่บ้านนักกีฬา
“โอลิมปิก 2024” ที่กรุงปารีส ตั้งเป้าเป็นกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ความปรารถนานี้อาจไม่เป็นจริง เพราะผู้จัดงานตัดสินใจสั่งเครื่องปรับอากาศ 2,500 เครื่องมาติดตั้งในหมู่บ้านนักกีฬา
KEY
POINTS
- ผู้จัดงาน “โอลิมปิก 2024” ยอมให้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 2,500 เครื่อง ในหมู่บ้านนักกีฬา แต่ให้แต่ละประเทศจ่ายค่าเครื่องปรับอากาศกันเอง
- กรมอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสคาดว่าอุณหภูมิฤดูร้อนในปีจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติทั่วประเทศ อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด จนเกิดอาการเจ็บปวดได้ เช่น ตะคริว อ่อนเพลีย ลมแดด และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- ความล้มเหลวในการงดใช้เครื่องปรับอากาศ แสดงให้เห็นว่าเจ้าภาพไม่สามารถสื่อสารให้ทีมต่าง ๆ เข้าใจแนวคิดความยั่งยืนได้
“โอลิมปิก 2024” ที่กรุงปารีส ตั้งเป้าเป็นกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ความปรารถนานี้อาจไม่เป็นจริง เพราะผู้จัดงานตัดสินใจสั่งเครื่องปรับอากาศ 2,500 เครื่องมาติดตั้งในหมู่บ้านนักกีฬา
หมู่บ้านนักกีฬาถูกออกแบบโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่จะมีระบบระบายความร้อนด้วยการใช้ระบบทำความเย็นจากน้ำบาดาลแทนและน้ำที่ถูกรีไซเคิล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Geo-exchange system” เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในอาคารให้ต่ำกว่าภายนอกอย่างน้อย 6 องศาเซลเซียส
“ฉันต้องการให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 งานต้นแบบสำหรับการจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีสกล่าวเมื่อปีที่แล้ว
แต่ด้วยระบบที่ยังใหม่ทำให้เกิดความกังวลว่าระบบอาจจะเย็นไม่พอ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพวกเขา ทีมนักกีฬาหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรเลียและไอร์แลนด์ ตัดสินใจว่าอาจจะพกเครื่องปรับอากาศมาเอง
การต่อต้านนี้ทำให้ผู้จัดงานลำบากใจ ว่าจะยังคงยึดมั่นในกฎที่ตั้งใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือยอมทำตามความต้องการของผู้เข้าแข่งขัน แต่ล่าสุดคณะผู้จัดงานโอลิมปิกอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศแบบพกพาได้ แต่ต้องจ่ายเงินเอง และติดตั้งในหมู่บ้านนักกีฬาตลอดระยะเวลาการแข่งขัน โดยผู้จัดงานประกาศว่ามีการสั่งซื้อแล้ว 2,500 เครื่อง
“โอลิมปิก 2024” การแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ?
เนื่องจาก “ข้อตกลงปารีส” ถือเป็นข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา และด้วยเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ผู้จัดงานจึงต้องพยายามทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ
ผู้จัดงานให้คำมั่นว่า โอลิมปิก 2024 และ พาราลิมปิก 2024 จะลดจำนวนคาร์บอนลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการแข่งขันที่ลอนดอน ปี 2012 และรีโอเดจาเนโร ปี 2016 โดยจะจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ไม่เกิน 1.58 ล้านตัน
ด้วยเหตุนี้ คณะจัดงานจึงเข้มงวดกับทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า การเดินทางมายังสถานที่จัดการแข่งขัน รวมไปถึงการก่อสร้างและจัดเตรียมสถานที่ โดยประมาณ 95% ของสถานที่ที่จะใช้ในโอลิมปิกปี 2024 เป็นอาคารเก่าหรือโครงสร้างชั่วคราว
ส่วนอาคารที่ก่อสร้างใหม่ประมาณ 5% ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน ลดการใช้ปูนซีเมนต์ลง ใช้ไม้และวัสดุเหลือใช้มากขึ้น โดยมีสนามกีฬาที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และบางแห่งมีแผงโซลาร์เซลล์เป็นของตัวเอง อีกทั้งหลังจากสิ้นสุดการแข่งขันจะเปิดให้คนท้องถิ่นได้ใช้
ไม่เว้นแม้แต่ด้านการเสิร์ฟอาหาร ที่เน้นใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น 80% พร้อมขนส่งแบบคาร์บอนต่ำไปยังครัวกลาง อีกทั้งใช้พืชเป็นองค์ประกอบหลักถึง 60% และลดเสิร์ฟเนื้อสเต๊กลงด้วย
หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก
เครดิตภาพ: @SOLIDEO_JOP บริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในงานโอลิมปิก 2024
แต่ความล้มเหลวในการงดใช้เครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้โอลิมปิก 2024 ลดโอกาสการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าภาพไม่สามารถสื่อสารให้ทีมต่าง ๆ เข้าใจแนวคิดความยั่งยืนได้
ดาเนียล ดูเบรยล์ จาก CLER เครือข่ายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการประหยัดพลังงาน กล่าวว่า ผู้จัดงานสื่อสารได้ไม่ดีกับทีมต่าง ๆ ถึงประโยชน์ของการออกแบบอาคาร ซึ่งทำให้พวกเขาไม่แน่ใจ จนคิดว่าเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
“โอลิมปิก 2024” การแข่งขันที่ร้อนที่สุด ?
สมาคมอังกฤษเพื่อการกีฬาที่ยั่งยืน หรือ BASIS เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 จะเป็นการแข่งขันที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกล่าวว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2021 ที่กรุงโตเกียวว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่น่าตกใจของอากาศในโอลิมปิกฤดูร้อน
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสคาดว่าอุณหภูมิฤดูร้อนในปีจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติทั่วประเทศ ยิ่งทำให้นักกีฬาเป็นกังวลว่าอากาศร้อนจะทำให้ร่างกายเกิดความเครียด จนเกิดอาการเจ็บปวดได้ เช่น ตะคริว อ่อนเพลีย ลมแดด และแม้กระทั่งการเสียชีวิต
โดยทีมนักกีฬาจากประเทศอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา ไอร์แลนด์ กรีซ และออสเตรเลีย ต่างประกาศว่าจะจ่ายค่าเครื่องปรับอากาศเอง ซึ่งทีมออสเตรเลียถึงกับบอกว่ายินดีจ่ายเงินมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 2,463,000 บาท เพื่อจะทำให้นักกีฬาของพวกเขาเย็นสบาย
ผู้จัดงานตกลงที่จะจัดหาเครื่องปรับอากาศให้ ออกัสติน ทราน แวน ชอ รองผู้อำนวยการหมู่บ้านโอลิมปิก กล่าวว่า “เป้าหมายคือการมอบวิธีแก้ปัญหาสำหรับนักกีฬาที่ต้องการความสะดวกสบายและฟื้นฟูร่างกายในฤดูร้อน”
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่โอลิมปิก 2024 ต้องเผชิญไม่ได้มีเพียงแต่การกลับมาใช้เรื่องปรับอากาศ แต่ยังมีปัญหาแม่น้ำแซนสกปรก เต็มไปด้วยเชื้ออีโคไล จนอาจจะใช้แข่งขันว่ายน้ำตามที่วางแผนไว้ได้ นอกจากนี้ ผู้จัดงานต้องยกเลิกแผนการสร้างหอคอยอะลูมิเนียมที่มีเครื่องปรับอากาศสำหรับการแข่งขันเซิร์ฟ ที่ตาฮีตี หลังจากชาวบ้านคัดค้านเพราะการก่อสร้างจะสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง