เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับแห่งซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยรากฐานจากขนบธรรมเนียมประเพณีอันละเอียดอ่อนละเมียดละไม วัฒนธรรมญี่ปุ่นกระแสหลักที่ผู้คนรู้จักกันทั่วโลกได้แก่ การชงชา เขียนพู่กัน และจัดดอกไม้ (อิเคบานะ)

เนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปีการก่อตั้งสำนักนกยูง อิเคโนโบ อิเคะบะนะ กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสนับสนุนเวิร์กช้อปการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น (อิเคบานะ) โดยฮิเดฮิโร โคบายาชิ หรือ ฮิโระเซนเซ ที่ World Pulse ได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบใกล้ชิด เวิร์กช้อปเปิดฉากโดยคาวามูระ มากิ ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารญี่ปุ่น เล่าให้ฟังว่า อิเคบานะคือการจัดดอกไม้โบราณแบบญี่ปุ่น ที่เธอเคยเรียนมาเล็กน้อย เพราะกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นมีชมรมจัดดอกไม้

"งานหนักมากค่ะ แต่ตอนพักเที่ยงก็จะเชิญอาจารย์มาสอนทำให้สบายใจ ลืมความยากลำบากทั้งหมด เห็นดอกไม้แล้วมีความสุข" มากิเล่าถึงประสบการณ์ในอดีต ก่อนส่งเวทีให้ฮิโระเซนเซ บรรยายสรุปก่อนผู้ร่วมอบรมจัดดอกไม้จริง 

 อิเคบานะมีต้นกำเนิดเมื่อราว 600 ปีก่อน มีมากกว่า 2,000 สำนัก แต่ที่เป็นต้นกำเนิดคือสำนักอิเคโนโบะ (Ikenobo) มาจากการที่พระนำดอกไม้ไปถวายบนแท่นบูชาของวัด Rokkakudo ใน จ.เกียวโต ปัจจุบันเจ้าสำนักอิเคโนโบเข้าสู่รุ่นที่ 45 แล้ว

อิเคบานะ แบ่งเป็นสามชนิด  Rikka เก่าแก่ที่สุด เริ่มต้นขึ้นหลัง ค.ศ. 1462 ชิ้นงานใหญ่สุดราว 10 เมตร “แทบจะเป็นการก่อสร้างไม่ใช่การจัดดอกไม้” 

เมื่อพูดถึงแนวคิดหลักของการจัดแบบ Rikka ฮิโระเซนเซเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามผู้ร่วมอบรมว่า ถ้าอยู่ในโตเกียวเราจะเห็นวิวอะไรบ้าง  แน่นอนว่าต้องเป็นตึกสูงอย่างโตเกียวทาวเวอร์หรือโตเกียวสกายทรี แต่ถ้าออกไปชนบทก็จะเห็นภาพภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ต้นหญ้า 

“การจัดดอกไม้แบบ Rikka ก็แบบเดียวกัน เป็นการจำลองภูเขาสีอ่อนสีเข้มตามระยะทางใกล้ไกล แม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ทุกเส้นที่เลือกมาวางมีระยะและความหมาย”  

 Shoka เกิดขึ้นหลังปี 1600 ในยุคเอโดะ ชิ้นงานขนาดเล็กลงกว่า Rikka  และตั้งแต่สมัยเมจิเริ่มมีการสอนการจัดดอกไม้ให้กับนักเรียนหญิง การจัดแบบนี้ให้ความสำคัญกับ space ภายใต้หลักการ “ทำให้ช่องว่างมีชีวิต”  

แบบที่ 3 ทันสมัยที่สุดคือแบบ ฟรีสไตล์ การจัดอิเคบานะแบบนี้ก่อนอื่นจะต้องมองเห็นความแตกต่างระหว่างการจัดดอกไม้เป็นช่อกับอิเคบานะ หรือการจัดดอกไม้แบบฝรั่งและญี่ปุ่นเสียก่อน ความแตกต่างมีอยู่ด้วยกันสามจุด 

จุดแรก อิเคบานะไม่ใส่ดอกไม้จนเต็ม ต้องมีช่องว่าง เว้นช่องไฟ ตามหลักการ “ทำให้ช่องว่างมีชีวิต”  การจัดช่อแบบฝรั่งนั้นสวยแบบเต็ม ดอกไม้อัดกันแน่นดูแล้วหายใจไม่ออก 

“ให้นึกถึงบีทีเอสช่วงที่ผู้โดยสารหนาแน่น แต่อิเคบานะเป็นรถไฟฟ้าตอนว่างคน มีช่องว่างให้ลมผ่านได้” อาจารย์เผยความแตกต่างจุดแรก  เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

จุดที่ 2 คือ  อิเคบานะรูปทรงไม่สมมาตร ถ้าจะให้สวยซ้ายขวาต้องไม่เท่ากัน ตามแนวคิดแบบหยินหยาง ในหนึ่งผลงานต้องมีใหญ่คู่เล็ก เข้มอ่อน ยาวสั้น มากน้อย เพราะธรรมชาติมนุษย์นั้นไม่สมมาตร “เช่นเดียวกับมุมสวยของเราไม่ใช่มุมตรงเป็นเป็นมุมเอียง อิเคบานะก็เช่นกัน”  เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

จุดที่ 3 แสดงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ในหนึ่งชิ้นงานอิเคบานะต้องแสดงวงจรชีวิตดอกไม้ตั้งแต่เพิ่งผลิ เริ่มเติบโต  เบ่งบานเต็มที่ 

"ในญี่ปุ่นมีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่สวยที่สุดตอนร่วงโรย นั่นคือซากุระ ซากุระร่วงสวยงามที่สุดแม้เป็นความงามเพียงชั่วพริบตาแต่ก็งามตราตรึง" ฮิโระเซนเซกล่าวถึงซากุระในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ด้วยเหตุนี้อิเคบานะต้องนำใบไม้เหี่ยวเฉามาจัดร่วมด้วย เพราะนั่นคือธรรมชาติ โลกนี้ไม่ได้มีแค่คนหนุ่มสาว  เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

จัดดอกไม้เสร็จ ฮิโระเซนเซกล่าวด้วยว่า  อิเคบานะกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ดอกไม้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและประเทศที่ผู้จัดอาศัยอยู่ไม่ใช่เพียงแค่ประเพณีเก่าของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีการผสมผสานองค์ประกอบใหม่ๆ เพื่อให้อิเคบานะกลายเป็นรูปแบบศิลปะที่น่าสนใจและทันสมัยมากขึ้น  เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

“คนเราโตขึ้น อิเคบานะก็คือการเปลี่ยนแปลงทุกวันอยู่แล้ว ไม่ได้ยึดติดของเก่า” ฮิโระเซนเซกล่าวทิ้งท้าย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นจึงครองใจผู้คนได้ตลอดเวลาก่อนจะมีคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ นั่นเพราะการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ เรียนจัดดอกไม้อิเคบานะ  เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น