เปิดสำนักงานบีโอไอซาอุดีฯ ยกระดับพันธมิตรสู่ 'หุ้นส่วนสำคัญ'
ประเทศไทย เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (บีโอไอ) อย่างเป็นทางการในกรุงริยาด บ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านจากพันธมิตรสู่ "หุ้นส่วนสำคัญ" และแสดงให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
หลังจากไทยจัดงาน Thailand Mega Fair สุดอลังการ และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2566 ในปีนี้ไทยได้ยกทัพนักลงทุนจับคู่เจรจาธุรกิจกับบริษัทชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย และเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (บีโอไอ) ในกรุงริยาด เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา
มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานบีโอไอ และพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการค้า และการลงทุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียหลายฝ่าย
รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวในพิธีเปิดว่า
“การเปิดสำนักงานบีโอไอ เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านจากพันธมิตร สู่หุ้นส่วนสำคัญ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติ และประชาชนทั้งสองฝ่าย และการค้าทวิภาคีระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2566 แตะ 8.8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 22% ของการค้าไทย กับตะวันออกกลาง แสดงให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทยในภูมิภาคนี้”
การเยือนครั้งนี้ รัฐมนตรีได้สรุปภาพรวมการค้าการลงทุนไทย-ซาอุดีอาระเบียที่สำคัญไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงด้านอาหาร 2.ความมั่นคงด้านพลังงาน และ 3.ความมั่นคงด้านมนุษย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งสองประเทศ
ผลักดันส่งออกโค-แพะ
การส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร ในระยะสั้น รัฐบาลไทยหนุนส่งโคเนื้อที่มีชีวิตไปยังซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความต้องการสูง ขณะที่ไทยก็มีซัพพลายโคที่มีชีวิตสูงเช่นกัน
คอลิด บิน อับดุลอะซีซ อัลฟาลิห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย (MISA) ยินดีสนับสนุนการนำเข้าโคไทย ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างทำแบบประเมินสุขภาพของโค เพื่อให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียมั่นใจว่า โคไทยปราศจากโรค และได้มาตรฐานสากล ขณะที่ผู้ประกอบการเลี้ยงโคของซาอุดีอาระเบียพร้อมรับนโยบายจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมนำเข้า-ส่งออกโคมีชีวิต และจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานโรงเชือดสำหรับการจัดส่งเนื้อวัว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไทยได้
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยอยากผลักดันการส่งออกแพะ ทั้งส่งออกแพะเพื่อใช้เนื้อ และส่งออกแพะใช้นมร่วมด้วย ส่วนแผนระยะกลาง และระยะยาว ไทยจะเชิญชวนผู้ประกอบการซาอุดีอาระเบียเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในโรงเชือด และยกระดับคุณภาพเนื้อโคของไทยต่อไป
ร่วมมือหนุนพลังงานสะอาด
เป็นที่ทราบกันดีว่าซาอุดีอาระเบียมีทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซจำนวนมาก ทั้งยังมีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาพลังงาน และซาอุดีอาระเบียเล็งเห็นว่า โลกอนาคตไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลเพียงอย่างเดียว ไทย และประเทศในตะวันออกกลางแห่งนี้จึงเห็นพ้องต้องกัน ที่จะร่วมกันพัฒนา และใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว อาทิ กรีนไฮโดรเจน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว (Small Modular Reactor) ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สนใจ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันในด้านนี้จะช่วยการันตีความมั่นคงด้านพลังงานในโลกอนาคต
ดึงดูดซาอุดีอาระเบียรักษาในไทย
หนึ่งในวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของนายกฯ เศรษฐาคือ การเป็นฮับการแพทย์ในระดับภูมิภาค ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็มีความมุ่งมั่นพัฒนาประเทศสู่การเป็นฮับการแพทย์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รมว.มาริษย้ำว่า สองวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกันนี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์ระหว่างกันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเพื่อความมั่นคงด้านมนุษย์
ในการหารือกับ ฟะฮัด บิน อับดุรเราะห์มาน บิน ดาฮิส อัลญะลาญิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยเสนอโอกาสในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในซาอุดีอาระเบีย 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศไทยเสนอให้รักษาพยาบาลในไทยได้ โดยใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขซาอุดีอาระเบีย ซึ่งฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้ปิดกั้น แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อ กระดูก และฟัน เนื่องจากโรงพยาบาลในซาอุดีอาระเบีย ยังไม่มีขีดความสามารถในด้านนี้มากพอ
2.กลุ่มบุคคลทั่วไป ที่ต้องเบิกจ่ายผ่านประกัน ไทยจึงเชิญโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ.สมิติเวช รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กล้วยน้ำไท และรพ.พระราม 9 ร่วมทริปเจรจาธุรกิจกับบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบริษัทประกันยินดีให้ความร่วมมือ และรมว.กต. เชื่อว่าคุณภาพการรักษาพยาบาลในไทย และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า จะทำให้ข้อตกลงทางธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
“ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับศักยภาพ การพัฒนายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ร่วมกัน ซึ่งการหารือทางการแพทย์ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านมนุษย์ของทั้งสองประเทศ” รมว.มาริษ กล่าว
จับมือไทยสร้างเมืองสีเขียว
ตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) ที่ต้องการพัฒนาประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซาอุดีอาระเบีย จึงต้องการซื้อต้นไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รมว.กต. เผยว่า มีบริษัทเอกชนไทยหลายแห่งที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับผู้ประกอบการซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบางรายเป็นหุ้นส่วนกับซาอุดีอาระเบีย เรียบร้อยแล้ว และยังมีโอกาสอีกมากสำหรับธุรกิจต้นไม้ไทย
ด้านสำนักงานบีโอไอ สถานทูต และกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุดีอาระเบีย
ดันท่องเที่ยวเชื่อมสัมพันธ์
การท่องเที่ยวไทย-ซาอุดีอาระเบียเติบโตอย่างมากหลังการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อปี 2565 โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียมาเยือน 178,113 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 85.23%
รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำว่า
“การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นสาขาที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความเข้าใจ ความผูกพัน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์ระหว่างกันได้”
เมื่อถามถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อการค้า-การลงทุนระหว่างไทย และซาอุดีอาระเบียหรือไม่ รัฐมนตรีมาริษยืนยัน ไม่ส่งผลกระทบ “ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่มีศัตรู เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ ความขัดแย้งในภูมิภาคย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อยากให้ประชาชนไทยภูมิใจว่าเรามีแต่เพื่อนคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาใดก็ตาม”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์