‘เมียนมา’คุมเศรษฐกิจเข้ม คาดโทษแบงก์-กักตัวค้าปลีกญี่ปุ่นฐานละเมิดกฎ

‘เมียนมา’คุมเศรษฐกิจเข้ม คาดโทษแบงก์-กักตัวค้าปลีกญี่ปุ่นฐานละเมิดกฎ

รัฐบาลทหาร’เมียนมา’กระชับการควบคุมเศรษฐกิจ คาดโทษแบงก์ปล่อยสินเชื่อเกินกำหนด กักตัวผู้บริหาร 'อิออน ออเรนจ์'บริษัทค้าปลีกญี่ปุ่น เหตุละเมิดกฎกำหนดราคาข้าว หลังเงินเฟ้อพุ่ง-เงินจ๊าตอ่อนค่า กระทบเงินทุนไหล

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า “รัฐบาลทหารเมียนมา”ขยายกำลังเข้าควบคุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและเงินทุนไหลออก ซึ่งดูเหมือนว่าจะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น

ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้กักตัวฮิโรชิ คาซามัตสึ ผู้บริหารของ อิออน ออเรนจ์ (Aeon Orange) เชนซูเปอร์มาเก็ตสัญชาติญี่ปุ่นในเครือบริษัทอิออน (Aeon)  โดยกล่าวหาว่าละเมิดกฎการกำหนดราคาข้าว ซึ่งคาซามัตสึถูกตั้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 ก.ค. โดยหวังที่จะได้รับการปล่อยตัวอย่างรวดเร็ว 

ตามข้อมูลของรัฐบาลทหาร ระบุว่า คาซามาสึและชาวเมียนมาอีก 10 คน จำหน่ายข้าวราคาสูงกว่าระดับที่เจ้าหน้าที่กำหนด ประมาณ 50-70%

นอกจากนี้ บริษัทในเครือของ Aeon ยังถูกกล่าวหาว่าขายข้าวในราคาที่สูงกว่าที่ทางการอนุญาต  โดยมีรายงานว่าการพิจารณาคดีของคาซามัตสึอาจจะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. หากถูกตัดสินว่ามีความผิด คาซามัตสึอาจต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี

อีกทั้งมีการประกาศจับกุม พยู มิน จ่อ ซีอีโอของ ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้งส์ บริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมค้าปลีกของเมียนมาที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต 55 แห่งภายใต้บริษัทในเครือทั้ง 4 แห่งและร้านสะดวกซื้ออีก 125 แห่ง 

บริษัทค้าปลีกทั้ง 2 แห่ง ทั้งอิออนและซิตี้มาร์ทได้นำข้าวออกจากชั้นวางสินค้าในช่วงปลายเดือนมิ.ย. หลังถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎการกำหนดราคาข้าว แต่ก็ยังคงถูกจับตาจากการปราบปรามที่กำลังขยายตัว

รัฐบาลทหารเมียนมากำหนดราคาข้าว เนื่องจากต้องการรักษาเสถียรภาพตลาดด้วยการปรับราคาสินค้าที่จำเป็น และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงสำหรับสกุลเงินเมียนมา ที่อ่อนค่าลงอย่างมากหลังเกิดรัฐประหาร

คาดโทษ'แบงก์' ปล่อยสินเชื่อเกินกำหนด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารกำลังเพิ่มการควบคุมในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากกองทัพเชื่อว่าภาคส่วนเหล่านี้มีส่วนทำให้เงินทุนไหลออกจากเมียนมาผ่านการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้มีฐานะร่ำรวย เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ในย่างกุ้งและไทย

วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้เรียกตัวผู้บริหารธนาคารใหญ่ๆ ของเมียนมา 7 แห่ง เพื่อย้ำเตือนว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับสถาบันการเงินที่ที่ปล่อยสินเชื่อเกินกำหนด

แม้การประชุมจะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวิตกกังวลแต่ก็เป็นการประชุมที่ค่อนข้างราบรื่น แต่การขาดหายไปของ “เซิร์จ ปูน”ประธานกรรมการบริหารธนาคารโยมา (Yoma Bank)  ซึ่งมีรายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่าถูกควบคุมตัวไปเป็นเวลาหนึ่งเดือน ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานา

ทั้งนี้ เมลวิน ปูน ( Melvyn Pun) ซีอีโอของ Yoma Strategic ปฏิเสธรายงานที่ว่า เซิร์จ ปูนถูกกักตัวหรือถูกฟ้องร้อง แต่ยอมรับว่าเซิร์จ ปูนอยู่ในเนปยีดอเพื่อเข้ารับการสอบสวนตามกระบสนการและข้อกังวลด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านธนาคารของกลุ่มโยมา

นักข่าวท้องถิ่นรายหนึ่งรายงานว่า ”สถานการณ์นี้เหมือนว่า เซิร์จ ปูน ถูกกักบริเวณในเมืองหลวงเพื่อการสอบสวน" 

เมียนมาเผชิญกับการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศตั้งแต่การยึดอำนาจของทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศที่ซบเซา 

“เงินจ๊าต”ที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของเมียนมาจะแตะระดับ 18% ในเดือนมี.ค. ปี 2568

การปราบปรามของรัฐบาลทหารยิ่งทำให้ความกังวลด้านเครดิตของเมียนมาเลวร้ายลงไปอีก โดยอัตราแลกเปลี่ยนของเงินจ๊าตในตลาดมืดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,000 จ๊าตต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์

อ้างอิง Nikkei