'ไมโครซอฟท์' คาด ไอทีล่มจาก 'คราวด์สไตรค์' กระทบคอมพิวเตอร์ 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลก

'ไมโครซอฟท์' คาด ไอทีล่มจาก 'คราวด์สไตรค์' กระทบคอมพิวเตอร์ 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลก

"ไมโครซอฟท์" คาด ระบบไอทีล่มเพราะ "คราวด์สไตรค์" กระทบคอมพิวเตอร์ 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลก บ่งชี้ เป็นเหตุขัดข้องทางไซเบอร์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

ไมโครซอฟท์คาด ระบบไอทีล่ม ครั้งใหญ่เมื่อวันศุกร์ (19 ก.ค.) กระทบคอมพิวเตอร์ 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลก ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยตัวเลขคอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบ และบ่งชี้ว่าเป็นเหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

เหตุขัดข้องดังกล่าวมาจากบริษัทด้านความปลอดภัย “คราวด์สไตรค์” (Crowdstrike) ที่ทำการอัปเดตซอฟต์แวร์จนส่งผลกระทบต่อลูกค้าของบริษัทจำนวนมาก

เดวิด เวสตัน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไมโครซอฟท์ โพสต์ว่า จำนวนคอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบนั้น น้อยกว่า 1% ของจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ใช้วินโดวส์ (Windows) ทั่วโลก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง สะท้อนให้เห็นถึงการใช้คราวด์สไตรค์ในองค์กรต่าง ๆ ที่ให้บริการที่สำคัญจำนวนมาก

ทั้งนี้ บริษัทสามารถระบุตัวเลขอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุขัดข้องได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากการวัดและการส่งข้อมูลทางไกล (telemetry) ที่มีประสิทธิภาพจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ไมโครซอฟท์ เผยด้วยว่า เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงความสำคัญในการตรวจสอบการควบคุมคุณภาพการอัปเดต ก่อนส่งการอัปเดตออกไปนั้น ของบริษัทต่างๆ เช่น คราวด์สไตรค์

“(ระบบไอทีล่ม) ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่า การจัดอันดับความสำคัญในการปฏิบัติงานด้วยการติดตั้ง(ระบบ)อย่างปลอดภัย และสามารถกู้คืนระบบโดยใช้กลไกที่มีอยู่นั้น สำคัญมากเพียงใด” เวสตัน ระบุ

 

‘คราวด์สไตรค์’ ทำไอทีขัดข้องครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

ระบบล่มจากความขัดข้องด้านไอทีครั้งใหญ่นี้ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และตัวเลขคอมพิวเตอร์ที่ไมโครซอฟท์เผย บ่งชี้ว่า นี่อาจเป็นเหตุขัดข้องทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุด ทิ้งห่างเหตุการณ์แฮ็กและเหตุขัดข้องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ทั้งหมด

ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีทางไซเบอร์ที่เรียกว่า WannaCry หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ในปี 2560 ซึ่งคาดว่ามีคอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบประมาณ 300,000 เครื่องใน 150 ประเทศทั่วโลก หลังจากนั้น 1 เดือน ก็เกิดการโจมตีไซเบอร์ที่มีต้นทุนความเสียหายและการก่อกวนที่คล้าย ๆ กัน เรียกว่า NotPetya 

นอกจากนี้ เมตา (Meta) บริษัทแม่ผู้ให้บริการอินสตาแกรม (Instagram) เฟซบุ๊ก (Facebook) และวอตส์แอปป์ (WhatsApp) เคยเกิดเหตุขัดข้องครั้งใหญ่นาน 6 ชั่วโมง เมื่อปี 2564 อย่างไรก็ตาม เหตุขัดข้องที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักกระทบโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่และแพลตฟอร์มพันธิมตรที่เชื่อมโยงกัน

ผู้เชี่ยวชาญเตือน ระวังมิจฉาชีพฉวยโอกาส

เหตุระบบไอทีล่มล่าสุด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์และหน่วยงานทั่วโลกต้องออกมาเตือนเกี่ยวกับการฉวยโอกาสแฮ็กระบบที่ก่อให้เกิดเหตุขัดข้องด้านไอที

หน่วยงานไซเบอร์ทั้งในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ต่างออกมาเตือนผู้คนให้ระวังอีเมล การโทร และเว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างว่าเป็นของจริง

ขณะที่ “จอร์จ เคิร์ตซ์” ซีอีโอคราวด์สไตรค์ ย้ำผู้ใช้งานตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาพูดคุยกับตัวแทนเจ้าหน้าที่ของบริษัทจริง ก่อนดาวน์โหลดโปรแกรมแก้ไขเหตุขัดข้อง และหน่วยงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ทั่วโลก ได้ออกมาเตือนผู้ได้รับผลกระทบจากระบบไอทีล่ม ให้ใช้เว็บไซต์ของคราวด์สไตรค์ในการรับข้อมูลและการช่วยเหลือเพียงที่เดียว หรือช่องทางอย่างเป็นทางการของคราวด์สไตรค์เท่านั้น

 

อ้างอิง: BBC