กองทัพอังกฤษยุค "เคียร์ สตาร์เมอร์" กับความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก

กองทัพอังกฤษยุค "เคียร์ สตาร์เมอร์" กับความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปีที่ พรรค Labour ได้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งนั้น อาจนำไปสู่การทุ่มเทกำลังเข้ามายันจีนถึงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเต็มตัวมากขึ้นของกองทัพอังกฤษ

ความหวังจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวแปรอีกชาติหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิกของอังกฤษนั้น อาจดูยากจะเป็นจริง แต่ชาติอาเซียนเตรียมพร้อมในเรื่องนี้กันหรือยัง โดยเฉพาะเรื่องช่องแคบไต้หวันกับเรือดำน้ำ AUKUS

แค่ 5 วันหลังจากที่เซอร์ Keir Starmer ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างถล่มทลาย เขาได้ไปพูดในที่ประชุมนาโต้ที่วอชิงตัน สัญญาจะทบทวนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศอย่างถึงรากถึงกึ๋น เพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็น 2.5% ของ GDP จะช่วยยูเครนรบรัสเซียต่อไป

พร้อมทั้งจะฟื้นฟูกองทัพที่เคยกลวงในให้กลับมาเกรียงไกรอย่างเดิม อีกไม่ถึงสิบวันต่อมาสตาร์เมอร์ก็ตั้งคณะทำงานทบทวนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปเป็นร่าง เป้าหมายคือปีหน้าต้องได้ผลลัพธ์ออกมา

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่แค่การหมกมุ่นแต่มหาสมุทรแอตแลนติกอย่างที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะทั้งสตาร์เมอร์ และขุนพลรายอื่นของพวกเขา รวมทั้งเซอร์ George Robertson อดีตเลขานาโต้และหัวหน้าคณะทำงานฯ พล.อ.Roland Walker ผบ.ทบ.ต่างออกมาโจมตีจีน ถึงขั้นจัดกลุ่มเป็นพวกเดียวกับชาติปรปักษ์นาโต้รายอื่น พร้อมทั้งประกาศเตรียมรับมือสงครามกันเลยทีเดียว

  พวกเขาพร้อมประกาศหลักการปกป้องเกียรติภูมิและสร้างความเกรียงไกรโพ้นทะเลออกมา นั่นแย้มพรายได้ว่าอังกฤษจะชิงเคลื่อนไหวเข้าไปถึงถิ่นอิทธิพลจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมมากขึ้นในยุคของสตาร์เมอร์

 

จริงๆ แล้วอังกฤษมีปลายยุคของพรรค Conservative ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าเบนเบี่ยงไปทางอินโด-แปซิฟิกไม่น้อยแล้ว เห็นได้จากการวิจารณ์จีนแรงและมียุทธศาสตร์ร่วมกับอเมริกาและออสเตรเลียในกรอบ AUKUS

การปรากฏตัวของเรือและเครื่องบินรบของอังกฤษร่วมซ้อมรบกับชาติมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีกันหลายรหัส เมื่อปี 2564 ถึงขนาดยกกองเรือบรรทุกเครื่องบินอ้อมโลกไกล 55,000 ไมล์ ไปฝึกร่วมกับอเมริกาและญี่ปุ่น และยังประกาศว่าตั้งแต่ปีหน้าจะมาซ้อมรบกันอย่างเป็นทางการทุกปี

กองทัพอังกฤษยุค \"เคียร์ สตาร์เมอร์\" กับความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก

การที่อังกฤษต้องการเพิ่มบทบาทด้านความมั่นคงของตนเองในเวทีโลกนั้น นอกเหนือจากปัจจัยความจำเป็นที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับรัสเซียและจีนที่ไม่ลงรอยกับตนเป็นเวลานาน

ยังมีความต้องการฟื้นฟูเกียรติภูมิที่เคยเป็นชาติมหาอำนาจก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ประชาชนของตนเองได้ตระหนักภาคภูมิใจ มีกำลังใจในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอีกด้วย 

ดูทรงแล้วทิศทางของยุทธศาสตร์ใหม่ไม่ได้ฉีกออกจากทิศทางเดิม แต่จะแข็งกร้าวมากขึ้นและทำให้กองทัพมีขีดความสามารถที่รบได้จริงมากขึ้น  การมองว่าจีนคือภัยคุกคามทำให้อังกฤษต้องเตรียมกำลังไปช่วยสหรัฐ ท้าทายจีน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงแต่จะซ้อมรบยิบย่อยกับหลายชาติแปซิฟิก 

แต่ในกรอบใหญ่ๆ ที่กำลังขยายอย่าง CobraGold ของไทย และ Balikatan ของฟิลิปปินส์ก็คงต้องมีเรืออังกฤษเข้าไปแจม

 ประโยชน์ที่ฝั่งเอเชียจะได้รับก็คือ บุคลากรจะเชี่ยวชาญมากขึ้น โอกาสจัดหาอาวุธจากอังกฤษก็มี ข้อตกลงความร่วมมือใหม่ๆ และความช่วยเหลือทางทหารจะถูกหยิบยื่นจากฝ่ายอังกฤษมายังกองทัพเอเชีย 

แต่ข้อน่าห่วงใยก็มีเหมือนกัน ตั้งแต่ประเด็นช่องแคบไต้หวัน หากจะมีชาติใดกล้าร่วมกับอเมริกาปกป้องไต้หวัน หากเกิดสงครามก็เห็นจะมีอังกฤษนี่ล่ะ เพราะดูห้าวมาตั้งแต่เรื่องซินเจียงและฮ่องกงแล้ว

กองทัพอังกฤษยุค \"เคียร์ สตาร์เมอร์\" กับความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก

กรอบข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ AUKUS นี่ก็น่าห่วง เพราะการที่ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์นั้นไม่เพียงแต่ทำให้จีนวิตก ชาติอาเซียนก็ไม่ค่อยพอใจ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของจิงโจ้

 เมื่อออสเตรเลียมีเรือดำน้ำได้ ชาติอาเซียนทางทะเลก็คงต้องสะสมอาวุธเพื่อเทียบศักดิ์กันขึ้นไป อังกฤษก็ไม่ใช่แค่ฝึกบุคลากรให้ออสเตรเลียเท่านั้น ตนก็หวังจะมีเรือดำน้ำที่ทันสมัยด้วยเหมือนกัน หากอังกฤษมีเรือดำน้ำรุ่นใหม่อย่าง Dreadnought เข้ามาร่วมเครือนาวี การต่อยตีโพ้นทะเลอย่างในมหาสมุทรแปซิฟิกก็จะง่ายขึ้น

แต่อุปสรรคทางกองทัพอังกฤษก็มีไม่น้อย งบประมาณไม่ได้โปรยลงมาจากฟ้า เศรษฐกิจยังไม่ดีอย่างนี้ก็ต้องลำบากหน่อย เพราะการพัฒนาแต่ละด้านของกองทัพต้องใช้เงินมหาศาล พันธสัญญาในการช่วยยูเครนนี่ใช้เงินหนักมาก

กองทัพอังกฤษยุค \"เคียร์ สตาร์เมอร์\" กับความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก

การยกเครื่องเรือดำน้ำก็ต้องมีหลายพันล้านปอนด์ ยังมีความต้องการยกระดับนิวเคลียร์อีก นอกเหนือจากเรื่องเงิน อังกฤษมีภารกิจหลายแนวรบเหลือเกิน ทั้งปกป้องปีกให้ยุโรปในทะเลเหนือ ร่วมลาดตระเวนทะเลแดง และยังจะมาแปซิฟิกอีก กำลังพลทหารเรือมีแต่ 35000 คนก็คงต้องหาเพิ่ม

 อย่างไรก็ตาม ชาติมหาสมุทรแปซิฟิกก็ไม่ควรจะเย็นใจว่า การปรากฏกายในแปซิฟิกบ่อยขึ้นของอังกฤษจะเป็นแค่สัญลักษณ์หรือโวหารเท่านั้น เพราะอินโด-แปซิฟิกร้อนระอุขึ้นทุกวัน มหาอำนาจแบ่งขั้วเผชิญหน้ากันอย่างไม่เหนียม

อังกฤษในฐานะพันธมิตรเอกของอเมริกาก็อาจสามารถพัฒนาตนจนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลอย่างแท้จริง รับผิดชอบต่อความท้าทายในแปซิฟิกมากกว่าที่พูดก็เป็นได้.