มองการต่อต้าน ศูนย์ข้อมูลใหม่ ในย่านชานกรุงวอชิงตัน

มองการต่อต้าน ศูนย์ข้อมูลใหม่ ในย่านชานกรุงวอชิงตัน

ท่ามกลางการแข่งขันกันสร้างแรงจูงใจอย่างเข้มข้นระหว่างรัฐบาล จากระดับท้องถิ่นถึงประเทศให้ทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลไหลเข้าไปในบ้านของตน ประชาชนในย่านชานกรุงวอชิงตันออกมาต่อต้านอย่างหนัก รัฐบาลท้องถิ่นต้องเพิ่มมาตรการควบคุมการสร้าง ศูนย์ข้อมูล อย่างเร่งด่วน

การลงทุนใน ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นเสมือนความพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพของปอดและหัวใจให้แก่การพัฒนาขั้นต่อไป ซึ่งอาศัยการประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในพริบตา 

การลงทุนในศูนย์เหล่านี้มักเป็นที่สนใจของรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากมีผลดีหลายอย่าง เช่น ในระดับท้องถิ่นได้เพิ่มการจ้างงานและรายได้พร้อมกับการขยายฐานภาษี

ระดับประเทศ นอกจากผลดังกล่าวแล้ว มันยังมักนำความรู้ใหม่และทักษะร่วมสมัยเข้าไปให้อีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ศูนย์ข้อมูลถูกมองว่าเป็นจำพวก “อุตสาหกรรมสะอาด” ทั้งนี้เพราะผลิตของเสียหรือกากต่ำมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหนักทั้งหลาย  รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีโดยทั่วไปและปิโตรเคมีโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลใหม่ชี้ชัดว่านั่นเป็นการเข้าใจผิด การใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากของศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่และผลกระทบสูงหลายด้านรวมทั้งต่อสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น 

ข้อมูลเหล่านี้มาจากศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่เริ่มสร้างขึ้นในย่านชานกรุงวอชิงตันเองและจากท้องถิ่นอื่น นอกจากนั้น มันยังได้รับการยืนยันจากการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากของอุตสาหกรรม “การทำเหมืองเงินคริปโต” อีกด้วย

การทำเหมืองเงินคริปโตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งอาศัยพลังทางด้านการคำนวณของคอมพิวเตอร์จำนวนมาก เพื่อแข่งขันกันไขปริศนาในระบบของเงินตราดิจิทัล ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นเงินในสกุลนั้น เช่น บิตคอยน์ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 2552 คอมพิวเตอร์จำนวนมากของผู้ทำเหมืองนั้นใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมักมาจากระบบที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น 

การใช้พลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดยังผลให้การผลิตต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในกรณีที่พลังไฟฟ้ามาจากการเผาผลาญถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันปิโตรเลียม ผลกระทบมีต่อระบบนิเวศโดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ในกรณีที่ท้องถิ่นไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการ ผู้คนในท้องถิ่นต้องรับผลของการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวันทันที

เท่านั้นยังไม่พอ เสียงกระหึ่มตลอดเวลาจากการใช้คอมพิวเตอร์พร้อมพัดลมจำนวนมากจากการทำเหมืองดังกล่าว ยังมีผลร้ายต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนรอบข้างอีกด้วย

ตัวอย่างอันน่าเศร้าล่าสุดซึ่งสื่อนำมาตีแผ่ ได้แก่ เรื่องราวของชาวเมืองแกรนเบอรี (Granbury) ในรัฐเท็กซัส ที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหลังการตั้งศูนย์การทำเหมืองเงินคริปโตในเวลาเพียงไม่นาน 

มีการวิจัยเปรียบเทียบได้ข้อสรุปว่า เสียงดังกล่าวทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปวดหน้าอก หัวหมุน หูอื้อ ปวดหัวเรื้อรัง และตื่นตระหนก

ข้อมูลดังกล่าวเพิ่งเผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาอันสั้น เนื่องจากผู้คนในย่านชานกรุงวอชิงตันโดยทั่วไปมีการศึกษาสูงและติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด พร้อมกับอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย พวกเขาจึงออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลดำเนินมาตรการป้องกันก่อนจะเกิดสถานการณ์สายเกินแก้

แต่การเคลื่อนไหวแนวนี้ไม่น่าจะมีขึ้นในท้องถิ่นและประเทศที่ประชาชนยังมีการศึกษาต่ำ ไม่เข้าใจ หรือไม่ติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิด และไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย

สำหรับเมืองไทยซึ่งประสงค์จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์โดยเฉพาะจากต่างชาติ ข้อมูลที่อ้างถึงจะถูกนำมาประกอบการพิจารณาหรือไม่และอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์

หากใช้การลงทุนในอดีตเป็นแนวคาดการณ์ ผลออกมาไม่เป็นที่น่าวางใจนักเนื่องจากมีตัวอย่างมากมาย ซึ่งอาจเห็นได้จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในย่านชายฝั่งทะเลตะวันออกไปจนถึงการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ 

ทั้งที่มีความแน่นอนว่าอุตสาหกรรมเหล่านั้นผลิตปฏิกูลที่มีผลกระทบร้ายแรง แต่มาตรการควบคุมและการบังคับใช้มักไม่เสมอต้นเสมอปลายส่วนหนึ่งเพราะการรับเงินใต้โต๊ะ ด้วยปัจจัยดังที่กล่าวมา คนไทยโดยทั่วไปคงได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาอย่างรอบด้าน และมีมาตรการเหมาะสมสำหรับป้องกันผลกระทบจากศูนย์ข้อมูลขนาดยักษ์.