‘ทองคำ’ มาแรงหาก ‘ทรัมป์’ ชนะ นโยบายเศรษฐกิจเสี่ยงดันเงินเฟ้อสูง

‘ทองคำ’ มาแรงหาก ‘ทรัมป์’ ชนะ  นโยบายเศรษฐกิจเสี่ยงดันเงินเฟ้อสูง

ผลสำรวจชี้ถ้า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้งได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นักลงทุนจะเลือกถือ ‘ทองคำ’เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยให้ผลตอบแทนสูงสุด คาดนโยบาย ‘ทรัมป์ 2.0’ ดันเงินเฟ้อพุ่งกดดอลลาร์อ่อนค่า ย้อนดูข้อมูลตอนเป็นประธานาธิบดีพบราคาทองคำแท่งพุ่งกว่า 50%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยผลสำรวจความเห็นผู้จัดการกองทุน นักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุนรายย่อย และผู้ตอบแบบสอบถาม 480 คนพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า “ทองคำ” จะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนที่ดีที่สุดในกรณีหาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่ายุค “ทรัมป์ 2.0”

ผลสำรวจให้น้ำหนักทองคำมากที่สุด 53% ตามมาด้วยดอลลาร์สหรัฐ 26% และฟรังก์สวิส 21% ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 60% มองว่า “เงินดอลลาร์สหรัฐ” จะอ่อนค่าลงหากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันรายนี้ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

‘ทองคำ’ มาแน่ถ้า ‘ทรัมป์’ ชนะ

ผลสำรวจของ Bloomberg Markets Live Pulse สอบถามว่า “อะไรจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในยุคการบริหารของทรัมป์หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ” ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ 53% ระบุตรงกันว่าทองคำคือทางเลือกที่ดีที่สุด

หากย้อนไปตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งในสมัยที่แล้วระหว่างปี 2560 - 2564 จะพบว่าเป็นช่วงที่ราคาทองคำแท่งพุ่งขึ้นกว่า 50% สวนทางดัชนีค่าเงินดอลลาร์ของบลูมเบิร์กที่ลดลงมากกว่า 10%

‘ทองคำ’ มาแรงหาก ‘ทรัมป์’ ชนะ  นโยบายเศรษฐกิจเสี่ยงดันเงินเฟ้อสูง

สำหรับแนวโน้มราคาทองขาขึ้นใน ยุคทรัมป์ 2.0 นั้น เป็นเพราะทิศทางนโยบายหลายอย่างที่เกี่ยวกับแผนการลดภาษีสหรัฐ แผนการขึ้นภาษีศุลกากรกับประเทศคู่ค้าและแผนการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และอาจถึงขึ้นกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ส่วนในกรณีหาก “พรรครีพับลิกัน” ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในสภาคองเกรส โดยชนะทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเดือน พ.ย.นี้ ก็จะยิ่งทำให้ทรัมป์มีอิสระมากขึ้นในการออกนโยบายเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ซึ่งอาจเป็นการจุดกระแสราคาทองคำยิ่งขึ้นไปอีก

เกรกอรี เชียเรอร์ นักวิเคราะห์จากธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค มองว่า แนวโน้มราคาทองคำ มีปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตอยู่แล้วจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การขาดดุลทางการคลังของสหรัฐที่สูงขึ้น การกระจายการลงทุนของธนาคารกลาง และการป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ

“ปัจจัยเหล่านี้น่าจะคงมีผลกระทบต่อราคาทองคำ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เพียงแต่อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหากทรัมป์ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง หรือหากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น” เชียเรอร์กล่าว

ในอดีตที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนแสวงหาสินทรัพย์ปลอดภัย บวกกับการที่อัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่ในระดับต่ำเกือบ 0% ทำให้ทองคำที่ไม่มีดอกเบี้ยดึงดูดนักลงทุนในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ และทำให้ราคาทองคำทำสถิติสูงสุด (ในขณะนั้น) เมื่อเดือน ส.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นในยุคของทรัมป์ก็ยังไม่ใช่การพุ่งขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนในสมัยของจอร์จ ดับเบิลยู บุชและจิมมี่ คาร์เตอร์ นั้นสูงกว่ามาก

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน บลูมเบิร์กระบุว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคส่งผลดีต่อราคาทองคำ จากแนวโน้มที่เฟดอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. นี้ และการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2565 เพื่อกระจายความเสี่ยงจากดอลลาร์

‘ดอลลาร์’ เสี่ยงเข้าภาวะขาลง

2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าชัยชนะของทรัมป์จะบั่นทอนสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก

แคทรีน รูนีย์ เวรา หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของบริษัทสโตนเอ็กซ์ กรุ๊ป ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ายุคทรัมป์ 2.0 อาจเร่งให้เกิดการกระจายสินทรัพย์ออกจากดอลลาร์มากขึ้น เพราะนอกจากธนาคารกลางแล้วภาคเอกชนเองก็จะเข้ามาตุนทองคำในพอร์ทการลงทุนมากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันพบว่าลูกค้ากำลังเพิ่มการลงทุนในทองคำกันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าทิศทางดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ในขณะที่ปัจจัยต่างๆ ทั้งทางเทคนิค โครงสร้าง และพื้นฐาน ล้วนสนับสนุนแนวโน้มราคาของทองคำในครั้งนี้

แบบสอบถามของบลูมเบิร์กยังสอบถามด้วยว่า“การเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อสถานะของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลกอย่างไร”

ทว่าสำหรับคำถามนี้ผลสำรวจยังออกมาในเชิงขัดแย้งกันอยู่ โดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำในวอลสตรีทบางรายมองว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมากกว่าอ่อนค่าลง จากแนวโน้มการใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าที่รุนแรงต่อประเทศคู่ค้า และนโยบายการคลังที่เพิ่มการขาดดุล ซึ่งอาจขัดขวางวัฎจักรการลดดอกเบี้ยของเฟด

ขณะที่ผลการสำรวจมีมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทรัมป์หรือ “คามาลา แฮร์ริส” เนื่องจากการขาดดุลทางการคลังที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง อาจยิ่งกระตุ้นการลดถือครองดอลลาร์และอาจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตหนี้สาธารณะตามมาได้

ทั้งนี้ ดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยระดับโลกในช่วงที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทว่าแคทลีน บรูคส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ XTB กล่าวว่าเงินดอลลาร์อาจไม่ได้รับประโยชน์จากความผันผวนทางการเมืองภายในสหรัฐเอง เมื่อสหรัฐกำลังสร้างความเสี่ยงขึ้นมาเองจากแนวโน้มการเลือกตั้งที่ปั่นป่วนและผลกระทบทางการคลังของยุคทรัมป์ 2.0 ซึ่งอาจทำให้ดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยกลายเป็นความเสี่ยงในปี 2568 นี้