Sephora เลย์ออฟ 10% รับตลาดจีนซบ ธุรกิจเครื่องสำอางซึม
แหล่งข่าวเผยเชนร้านเครื่องสำอางชื่อดัง 'เซโฟรา' กำลังเลิกจ้างพนักงานในจีนหลายร้อยคน มุ่งพลิกฟื่นการขาดทุน หลังเศรษฐกิจแดนมังกรที่ซบเซากดดันการใช้เงินของผู้บริโภค
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า เชนร้านเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ 'เซโฟรา' (Sephora) ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ใหญ่สุดในเครือของอาณาจักร LVMH กำลังเตรียมเลิกจ้างพนักงานราว 10% ในประเทศจีน เพื่อพยายามพลิกฟื้นการดำเนินงานที่ขาดทุนในตลาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เซโฟร่าประเทศจีนได้ดำเนินการปลดพนักงานออกแล้วจำนวนหนึ่งทั้งในส่วนของสำนักงานและสาขาร้าน และยังโน้มน้าวมีการลาออกเพิ่มเติมอีก โดยมีการประเมินว่าการเลิกจ้างครั้งนี้จะกระทบพนักงานราว 10% จากจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า 4,000 คนในจีน
ด้านแหล่งข่าวอีกรายเปิดเผยด้วยว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ยังรวมไปถึง "ผู้บริหารระดับสูง" บางคน เช่น ผู้บริหารในแผนกค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซที่ออกจากบริษัทไปแล้ว
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เซโฟราแต่งตั้ง "ติง เซี่ย" อดีตผู้บริหารที่ดูแลด้านอีคอมเมิร์ซในเอเชียของบริษัทไนกี้ อิงค์ เข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ของเซโฟราประเทศจีน เพื่อพยายามพลิกฟื้นบริษัทที่กำลังดิ้นรนขยายกิจการในจีน ซึ่งฝ่ายบริหารของ LVMH มองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายยอดขายทั่วโลกที่ 20,000 ล้านยูโร (ราว 7.6 แสนล้านบาท)
"เพื่อตอบสนองต่อบรรยากาศของตลาดที่ท้าทาย และเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะเติบโตต่อไปในประเทศจีน Sephora China กำลังปรับโครงสร้างองค์กรในสำนักงานใหญ่ให้กระทัดรัดขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะมีศักยภาพที่พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว" โฆษกของบริษัทระบุในแถลงการณ์
โฆษกกล่าวในภายหลังด้วยว่า การปรับลดพนักงานในสำนักงานใหญ่ที่จีนคาดว่าจะมีจำนวนไม่ถึง 3% จากพนักงานทั้งหมดในประเทศกว่า 4,000 คน แต่โฆษกไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลดจำนวนพนักงานในส่วนของสาขาร้าน และระบุเพียงว่าบริษัทไม่ขอให้ความเห็นในส่วนที่เป็นการคาดเดาของตลาด
สำหรับเซโฟราซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรแบรนด์หรู LVMH โดยทำรายได้ในปี 2565 สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากหลุยส์ วิตตอง "ตลาดจีน" ถือเป็นหัวหาดที่เซโฟรายังปักหลักมุ่งมั่นต่อหลังจากที่มีการทยอยถอนธุรกิจออกจากไต้หวันและเกาหลีใต้ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของเซโฟราที่พิสูจน์มาแล้วในสหรัฐ ยุโรป และตะวันออกกลาง ดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นกับที่จีน
แม้บริษัทจะขยายสาขาไปแล้วมากถึงราว 300 แห่ง นับตั้งแต่เข้ามาทำธุรกิจในจีนเมื่อปี 2548 แต่ก็ยังเป็นงานยากสำหรับแบรนด์ค้าปลีกระดับไฮเอนด์ เพราะผู้บริโภคต่างมองหาสินค้าที่ "ถูกกว่า" ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยสินค้าของเซโฟราซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอางแบรนด์ตะวันตกมักมีราคาแพงกว่าแบรนด์ท้องถิ่นในจีนซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพราะราคาถูกกว่าและตอบโจทย์ความชอบของคนในประเทศได้ดีกว่า