รู้จัก ‘พาเวล ดูรอฟ’ CEO เทเลแกรม วัย 39 ผู้มีบุตรนับ 100 จากการบริจาคสเปิร์ม

รู้จัก ‘พาเวล ดูรอฟ’ CEO เทเลแกรม วัย 39 ผู้มีบุตรนับ 100 จากการบริจาคสเปิร์ม

รู้จัก "พาเวล ดูรอฟ" ซีอีโอเทเลแกรมวัย 39 ปี ที่กำลังถูกจับตา หลังเพิ่งถูกจับกุมในฝรั่งเศส เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าแอปฯของเขาหนุนการก่ออาชญากรรม ทว่าเรื่องที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ เขาบริจาคสเปิร์มช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก และมีลูกแล้ว 100 คน

พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทเลแกรม (Telegram) วัย 39 ย่าง 40 ปี กลายเป็นที่ถูกพูดถึงในโซเชียลหลังถูกฝรั่งเศสจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ (25 ส.ค.) ตามหมายจับ ซึ่งมีความเกี่ยวกับข้องกับแอปฯเทเลแกรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่มองว่าแอปฯส่งข้อความขาดการควบคุมดูแล ซึ่งอาจก่อให้เกิดกิจกรรมอาชญากรรมในเทเลแกรมอย่างต่อเนื่อง

ดูรอฟเกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2527 ในเลนินกราด หรือเมืองเซนปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย ณ ปัจจุบัน เข้าเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม vkontakte หรือ VK และเทเลแกรม เครือข่ายโซเชียลที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย และเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ได้รับความนิยมระดับโลก ซึ่งมีผู้ใช้งานเกือบ 1,000 ล้านบัญชี

ตามรายงานของรอยเตอร์สที่อ้างอิงจากฟอร์บส คาดว่า ดูรอฟมีความมั่งคั่งราว 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ในปี 2560 ดูรอฟย้ายบริษัทและย้ายที่อยู่ออกจากรัสเซียไปยังดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หลังปฏิเสธปฏิบัติการตามข้อเรียกร้องรัฐบาลให้ปิดกลุ่มสื่อสารของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย VK หลังจากนั้นดูรอฟได้สัญชาติฝรั่งเศสในปี 2564 และยังได้สัญชาติจากยูเออี และประเทศเซนต์คิตส์และเนวิสอีกด้วย

เส้นทางที่นำพาเวลสู่การถูกจับกุม

เส้นทางเข้าสู่อุตสหากรรมเทคโนโลยีของดูรอฟ เริ่มต้นจากการเปิดตัว VK ในปี 2549 และกลายเป็นเครือข่ายโซเชียลชั้นนำในรัสเซีย แต่ดูรอฟปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์และการเฝ้าติดตาม ทำให้เขาถูกขับออกจาก VK ในปี 2557

หลังจากนั้นดูรอฟหันไปให้ความสำคัญกับเทเลแกรม แอปฯที่เข้าเปิดตัวเมื่อปี 2556 ซึ่งเทเลแกรมมีความโดดเด่นตรงที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวอย่างแข็งขัน มีฟีเจอร์มากมายให้ใช้ เช่น การเข้ารหัสแบบ end-to-end และข้อความทำลายตัวเอง (self-destructing messages) 

คุณสมบัติเหล่านั้นถึงดูดฐานผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในรัสเซีย ยูเครน และอดีตสาธารณรัฐโซเวียต

แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทเลแกรมใช่ว่าจะไร้อุปสรรคเสียทีเดียว

นอกจากฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัวของเทเลแกรมเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มผู้ใช้รายบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่กังวลเกี่ยวกับการเฝ้าติดตาม แต่ฟีเจอร์เหล่านี้ก็ดึงดูดกลุ่มอาชญากรด้วย ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เทเลแกรมถูกกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่หลบภัยของการทำกิจกรรมผิดกฎหมาย ทั้งการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการเผยแพร่สื่อล่วงละเมิดเด็ก 

การขาดการควบคุมดูแลที่เพียงพอของแพลตฟอร์มนี้ จึงกลายเป็นเรื่องน่ากังวลต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก

ผู้ใช้งานเทเลแกรมก็ได้วิจารณ์ประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการกลั่นกรองเนื้อหา ปัจจัยเหล่านี้จึงนำไปสู่การจับกุม และทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการกลั่นกรองเนื้อหาเทเลแกรมของผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีรายนี้

ซีอีโอหนุ่มผู้มีลูกแล้ว 100 คน

นอกจากประเด็นด้านกฎหมายแล้ว พาเวล ดูรอฟ ยังมีเรื่องส่วนตัวสุดช็อก และเป็นที่ฮือฮาทั่วโลก

ไม่นานมานี้ ดูรอฟโพสต์ในเทเลแกรมว่า ตนเป็นพ่อเด็กมากกว่า 100 คน ใน 12 ประเทศ จากการบริจาคสเปิร์มหรือสุจิ

การเปิดเผยดังกล่าว ถือเป็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างความน่าประหลาดใจ ดูรอฟอธิบายว่า เส้นทางสู่การเป็นพ่อนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน เมื่อเพื่อนสนิทของเขาประสบภาวะมีบุตรยาก และขอให้เขาบริจาคอสุจิ

ดูรอฟสนใจคำเชิญชวนดังกล่าว จึงเดินทางไปคลินิกเพื่อบริจาคสเปิร์ม ทางแพทย์แจ้งว่าผู้บริจาคสเปิร์มคุณภาพสูงกำลังขาดแคลน และว่าการบริจาคของเขาสามารถช่วยคู่รักที่เผชิญภาวะมีบุตรยากได้ทั่วโลก

แม้ตอนแรกตนลังเลแต่ด้วยข้อเสนอที่ไม่ธรรมดา และเขาก็ตัดสินใจบริจาค ซึ่งสเปิร์มของเขาก็ได้รับพิจารณาเป็นสเปิร์มบริจาคระดับท็อปเทียร์ 

จากโพสต์ในเทเลแกรม ดูรอฟเผยว่า เมื่อดูจากไลฟ์สไตล์ของตน ตนเซอร์ไพรส์มากที่ได้รู้ว่าเป็นพ่อเด็กกว่า 100 คน

“ผมเพิ่งทราบว่าตัวเองมีลูกทางสายเลือดมากกว่า 100 คน สำหรับคนที่ไม่เคยแต่งงานและพึ่งพอใจที่จะใช้ชีวิตคนเดียวแบบผม เป็นไปได้ไงกัน” ดูรอฟระบุในโพสต์

การเปิดเผยนี้ไม่เพียงสร้างความประหลาดใจแก่สาธารณชนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบของการบริจาคสเปิร์มและการรับผิดของผู้บริจาคอีกด้วย เนื่องจากดูรอฟเป็นถึงมหาเศรษฐี จะส่งผลต่อทายาทผู้สืบถอดธุรกิจหรือไม่ และมีโอกาสที่เด็ก ๆ เหล่านั้นจะมาเป็นคู่ครองกันเองหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงที่ไม่มีใครตอบได้