เปิดเหตุผลที่ ‘จีน’ ผลิตล้นโลก วิกฤติอสังหาฯ กับความกลัวของ 'สี จิ้นผิง'

เปิดเหตุผลที่ ‘จีน’ ผลิตล้นโลก วิกฤติอสังหาฯ กับความกลัวของ 'สี จิ้นผิง'

‘จีนผลิตล้นโลก’ ผลจากวิกฤติอสังหาฯ จีน บีบให้แดนมังกรหันมาพึ่งพาภาคการผลิต และส่งออกอย่างหนัก เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่การผลิตเกินกำลัง และส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมหาศาล กำลังทำให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกกังวล สงครามการค้ารอบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น

KEY

POINTS

  • จีนเพิ่มกำลังการผลิตรถอีวีมากถึงราว 40 ล้านคันต่อปี ทั้งที่สามารถขายได้จริงในประเทศเพียงราว 22 ล้านคัน เพิ่มการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เป็น 750 กิกะวัตต์ในปีนี้ ทั้งที่มีการใช้งานเพียง 220 กิกะวัตต์ในปีที่แล้ว
  • นับตั้งแต่สิ้นปี 2564 การปล่อยสินเชื่อในจีนให้กับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 63% สวนทางการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯที่ลดลงอย่างมาก
  • จีนใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประมาณ 4.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่นหลายเท่า

การผลิตสินค้าท่วมตลาดโลกอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ของ ‘จีน’ ทว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา และอาจทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเป็นภาคบังคับที่ทำให้จีนต้องเดิมพันกับ “การผลิตและส่งออก” เพื่อประคองตัว และยังมีตัวแปรสำคัญอย่าง “การเมืองโลก” ที่ทำให้จีนต้องเร่งเครื่องยืนบนขาตัวเอง เตรียมรับกรณีเลวร้ายหากความสัมพันธ์กับตะวันตกยิ่งตึงเครียด

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่าปัจจุบัน หลายประเทศกำลังเผชิญกับผลกระทบการผลิตล้นตลาด (Overcapacity) ของจีนและการไหลบ่าของสินค้าจีนราคาถูกจนทำให้ธุรกิจท้องถิ่นสู้ไม่ได้ ตั้งแต่ธุรกิจผลิตแผงซิลิคอนเวเฟอร์ในสหรัฐ ไปจนถึงบริษัทเหล็กในชิลี จนนำไปสู่การใช้มาตรการ “กำแพงภาษี” ในหลายประเทศ

“สหภาพยุโรป” (อียู) ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีนตามสหรัฐ “ตุรกี” และ “แคนาดา” ขึ้นภาษีนำเข้ารถอีวีจากจีนเช่นกัน ขณะที่ “ปากีสถาน” ขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องเขียนและยาง

ส่วนอีกหลายประเทศกำลังเปิดสอบสวนเรื่องการทุ่มตลาดจากจีน เช่น อินเดีย กำลังสอบสินค้านำเข้าในกลุ่มสีและสารเคมี ญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบอิเล็กโทรด สหราชอาณาจักรตรวจสอบการนำเข้ารถขุด และไบโอดีเซล ขณะที่อาร์เจนตินา และเวียดนามกำลังตรวจสอบเตาไมโครเวฟ และหอคอยพลังงานลมจากจีน

เปิดเหตุผลที่ ‘จีน’ ผลิตล้นโลก วิกฤติอสังหาฯ กับความกลัวของ \'สี จิ้นผิง\' - เทียบปริมาณการส่งออกระหว่างจีนกับส่วนที่เหลือของโลก (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) -

เหตุผลที่จีนผลิตเกินความต้องการ

วอลล์สตรีทเจอร์นัลได้สัมภาษณ์ที่ปรึกษาด้านนโยบายหลายคนในจีน และผู้ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลปักกิ่ง พบว่า “วิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเสนอแนะให้จีนปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพาภาคการผลิต และการก่อสร้างแบบเดิม และหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น หากเปลี่ยนแปลงได้เช่นนี้จะทำให้จีนคล้ายกับสหรัฐ และอาจทำให้จีนอยู่ในเส้นทางการเติบโตที่มั่นคงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้นำจีนอย่างประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” กลับเลือกที่จะผลักดันโมเดลการผลิตที่นำโดยรัฐให้เข้มข้นขึ้นแทน ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านเงินอุดหนุน และการปล่อยสินเชื่อจำนวนมากเป็นจำนวนกว่าหลายพันล้านดอลลาร์ บนสโลแกนว่า “สร้างใหม่ก่อนทำลายเก่า” (Xian Li Hou Po) ที่สะท้อนถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาก่อนที่จะยุติสิ่งเดิม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

“ใหม่” ในโมเดลของสี จิ้นผิงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการเติบโตใหม่ แต่หมายถึง “อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่” ที่รัฐควรให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และพลังงานสะอาด เพื่อให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลก ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความแข็งแกร่งแบบดั้งเดิมในภาคการผลิตแบบ “เก่า” อย่างเช่น เหล็ก

ที่ปรึกษาด้านนโยบายจีนหลายคนเปิดเผยว่า มี “หลักการสองประการ” ที่ชี้นำความคิดของสี จิ้นผิง

ประการแรกคือ จีนต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทุกด้าน ให้เศรษฐกิจจีนดำเนินต่อไปได้บนขาของตัวเอง เพื่อรับมือ “ในกรณีเลวร้ายที่สุด” ที่สหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ อาจจะโดดเดี่ยวอย่างรุนแรง โดยในมุมมองของผู้นำสูงสุดแล้ว “ความมั่นคงทางอุตสาหกรรม” คือหัวใจสำคัญของความมั่นคงจีน

ประการที่สองคือ สี จิ้นผิงมีความเชื่อที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับรูปแบบเศรษฐกิจบนการบริโภคของสหรัฐ โดยมองว่าเป็นการบริโภคที่ค่อนข้างเกินความจำเป็น และสิ้นเปลืองทรัพยากร

สถานการณ์ดังกล่าวจึงจำกัดทางเลือกของจีน ให้ต้องหันมาลงทุนในภาคการผลิตและการส่งออกอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ และสร้างงานภายในประเทศ

ความตึงเครียดกับ ‘สหรัฐ’ ฉุกจีนคิดใหม่

ที่จริงแล้วปัญหาจีนผลิตล้นเกินของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2558 สี จิ้นผิงได้มอบหมายให้ “หลิว เฮ่อ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจในขณะนั้นให้ดำเนินการปฏิรูปปัญหานี้ ส่งผลให้มีการปิดโรงงานเหล็กขนาดเล็กและธุรกิจส่วนตัวหลายแห่งเป็นจำนวนมาก ในตอนนั้นดูเหมือนว่าสีและทีมเศรษฐกิจพร้อมที่จะจัดการกับปัญหาการผลิตเกินได้อย่างจริงจัง

แต่เมื่อความตึงเครียดกับสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลง “ความคิดเห็นของสี จิ้นผิงได้เปลี่ยนไป” เขาเริ่มกังวลมากขึ้นว่าจีนสามารถผลิตทุกสิ่งที่ต้องการเองได้หรือไม่ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงกับสหรัฐ

สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการเดิมพันไปที่ “การผลิตและส่งออกขนานใหญ่” ทั้งเพื่อประคองเศรษฐกิจจีนในยามที่เครื่องยนต์อสังหาฯ ดับ และเพื่อสร้างความมั่นคงให้ห่วงโซ่อุปทานจีนให้ยิ่งแข็งแกร่งบนขาของตัวเอง 

จากการเน้นด้านนี้ของจีน จะเห็นได้ว่า ผลผลิตทางอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของจีนสูงกว่าช่วงที่วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มรุนแรงขึ้นในปลายปี 2564 ถึง 8% และสูงกว่าอัตราการเติบโตของผลผลิตในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย CPB Netherlands Bureau for Economic Policy Analysis ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของเนเธอร์แลนด์

รายงานระบุว่า จีนเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากถึงราว 40 ล้านคันต่อปี ทั้งที่สามารถขายได้จริงในประเทศเพียงประมาณ 22 ล้านคัน เพิ่มการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เป็น 750 กิกะวัตต์ในปีนี้ ทั้งที่มีการใช้งานเพียง 220 กิกะวัตต์ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มการผลิตเคมีภัณฑ์พื้นฐาน เช่น โพรพีลีน และเอทิลีน เป็น 80% ของการผลิตใหม่ในโลกในปีนี้ ทั้งที่ราคาสินค้าหลายรายการในจีนกำลังลดลงต่ำสุดในรอบ 19 เดือน เพราะปริมาณสินค้าที่ล้นตลาดเกินไป  

เปิดเหตุผลที่ ‘จีน’ ผลิตล้นโลก วิกฤติอสังหาฯ กับความกลัวของ \'สี จิ้นผิง\'

- การส่งออกผลิตภัณฑ์ของจีนตั้งแต่ ม.ค. 2565 (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) - 

โดยรวมแล้ว ปริมาณการส่งออกของจีน (เมื่อไม่นับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มขึ้น 10% นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เมื่อเทียบกับการส่งออกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5% อีกทั้งการส่งออกเหล็กของจีนเพิ่มขึ้น 36% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

รัฐบาลอุดหนุนการผลิตเต็มพิกัด

นโยบายของสีที่ให้ความสำคัญต่อภาคการผลิตนั้นปรากฎอยู่ในเศรษฐกิจจีนทั้งหมดโดยสะท้อนผ่านตัวเลขต่างๆ

นับตั้งแต่สิ้นปี 2564 การปล่อยสินเชื่อในจีนให้กับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 63% สวนทางกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดอย่างมาก

เปิดเหตุผลที่ ‘จีน’ ผลิตล้นโลก วิกฤติอสังหาฯ กับความกลัวของ \'สี จิ้นผิง\' - เทียบการปล่อยสินเชื่อระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคอสังหาฯของจีน (กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ) - 

ขณะที่การอุดหนุนจากภาครัฐซึ่งจีนใช้มาอย่างยาวนานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้รายงานข้อมูลการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลถึง 33,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2562 ตามข้อมูลจาก Wind ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านข้อมูล

CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่เบอร์ 1 ของโลกจากจีนได้รับเงินอุดหนุนประมาณ 790 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2565 ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ต่างก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเช่นกัน อาทิ ปิโตรไชน่า, ไชน่าโมบายล์ และบีวายดี

ด้านธนาคารกลางจีนได้จัดตั้งกองทุนใหม่ในเดือน เม.ย. ด้วยเงินทุนประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยี และในเดือน พ.ค. กองทุนระดับชาติที่ให้การสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ระดมทุนได้ถึง 48,000 ล้านดอลลาร์ โดยเงินทุนนี้มาจากธนาคารของรัฐและแหล่งลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

สถาบัน Kiel ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของเยอรมนีระบุว่า 99% ของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการอุดหนุนจากรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

สอดคล้องกับข้อมูลจากสก็อต เคนเนดี (Scott Kennedy) ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนที่ศูนย์การศึกษาเชิงกลยุทธ์และระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันระบุว่า จีนใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประมาณ 4.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งสูงกว่าสหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่นหลายเท่า

“ทุกคนผลิตสินค้าในจีน” เยิร์ก วุทท์เคอ (Joerg Wuttke) อดีตประธานหอการค้ายุโรปในจีนและปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา DGA Group ในวอชิงตันกล่าว “แต่ไม่มีใครทำกำไร”

อ้างอิง: wsj, กรุงเทพธุรกิจ, guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์