‘อาหารขยะ’ ถึงทางตันแล้ว? หลังเผชิญยอดขายร่วง สวนทางอาหารสุขภาพที่พุ่งแทน

‘อาหารขยะ’ ถึงทางตันแล้ว? หลังเผชิญยอดขายร่วง สวนทางอาหารสุขภาพที่พุ่งแทน

เทรนด์อาหารกำลังเปลี่ยนไป? จากเคยนิยมอาหารแปรรูปที่ทานสะดวก รวดเร็ว ปัจจุบันเทรนด์อาจพลิกผัน ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เลือกทานอาหารสดใหม่เพิ่มขึ้น จนยอดขายอาหารแปรรูปตกลง สวนทางธุรกิจอาหารสดที่เติบโตแทน

KEY

POINTS

  • ยอดขายของ “อาหารแปรรูป” ร่วงลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการยอดขายเครื่องดื่มของ PepsiCo รวมถึงมันฝรั่งทอด Lay’s, ขนม Doritos และเครื่องดื่ม Mountain Dew ที่น้อยลง 
  • แมคโดนัลด์ เผชิญยอดขายทั่วโลกในไตรมาส 2 ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี
  • รายงานล่าสุดจาก FMI สมาคมอุตสาหกรรมอาหารระบุว่า 44% ของร้านขายของชำกำลังเพิ่มพื้นที่สำหรับผักผลไม้สด และ 19% กำลังลดพื้นที่ทางเดินตรงกลาง ซึ่งเป็นที่วางเหล่าขนม

ในยุคที่เกือบทุกอย่างดูเร่งรีบไปหมด ตั้งแต่การกินไปจนถึงการใช้ชีวิต อาหารฟาสต์ฟูดซึ่งเป็นอาหารที่แปรรูปมาแล้ว อาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ไปจนถึงอาหารกระป๋องได้เข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ เพราะทั้งทานง่าย แถมเก็บได้นานด้วย

แต่ในปัจจุบัน “เทรนด์นี้กำลังเปลี่ยนไป” เมื่อยอดขายของ “อาหารแปรรูป” เหล่านี้ร่วงลง และกลับกลายเป็นว่า “อาหารสด” และ “ดีต่อสุขภาพ” เป็นที่นิยมขึ้นมาแทน สะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการยอดขายเครื่องดื่มของ PepsiCo รวมถึงมันฝรั่งทอด Lay’s, ขนม Doritos และเครื่องดื่ม Mountain Dew ที่ลดลง 

ยิ่งไปกว่านั้น แมคโดนัลด์ เผชิญยอดขายทั่วโลกในไตรมาส 2 ที่ “ลดลงครั้งแรก” ในรอบกว่า 3 ปี

การลดลงนี้เห็นได้ชัดในแถบอเมริกาเหนือ โดยปริมาณการขายลดลงทั้งเครื่องดื่มและขนมกรุบกรอบ แน่นอนว่ายอดขายในหน่วยเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในช่วงเวลาที่เงินเฟ้อสูงเช่นนี้ ปริมาณการขายเป็นตัวบอกสุขภาพธุรกิจได้มากกว่า

ขาขึ้นยุคอาหารสดรักสุขภาพ

รามอน ลากูอาร์ตา (Ramon Laguarta) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทเป๊ปซี่ เผยถึงยอดขายเป๊ปซี่ที่ร่วงลงว่า ผู้บริโภคกำลังบอกเรา พวกเขาต้องการมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งบางทีในปัจจุบัน มูลค่าไม่ได้เกี่ยวกับราคาเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับคุณภาพด้วย อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่กำลังเห็นสิ่งเดียวกันคือ “ผู้คนซื้ออาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพน้อยลง”

ในขณะแผนก “ผักและผลไม้สด” กำลังเห็นปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Circana โดยรายงานวิจัยระบุว่า อาหารสดเหล่านี้มักมีราคาแพงกว่า แสดงว่าไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงินโดยตรง แม้ว่าแนวโน้มบางอย่างจะมาจากการที่ผู้คนทำอาหารที่บ้านมากขึ้นแทนที่จะทานนอกบ้าน แต่นี่ก็เป็นสัญญาณว่า ผู้คนต้องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และพวกเขารู้ว่าอาหารสดเป็นส่วนสำคัญ

“สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับบริษัทอาหารสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นสิ่งที่เจสัน อิงริช (Jason English) แห่งวาณิชธนกิจ Goldman Sachs ได้ทำนายไว้เมื่อกว่าหนึ่งปีที่แล้วว่า จะเห็นการชะลอตัวในการบริโภคอาหารแปรรูป และผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาบริโภคอาหารสดมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาร้านค้าปลีกก็กำลังสังเกตเห็นแนวโน้มนี้ โดยขยายพื้นที่ในร้านเพื่อรองรับอาหารสด ขณะเดียวกันก็ลดขนาดพื้นที่วางสินค้าจำพวกขนมกรุบกรอบอย่างยี่ห้อ Goldfish และอาหารกระป๋องอย่าง Beefaroni ลง

นอกจากนี้ แม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น รายงานของ NCSolutions บริษัทวิจัยด้านข้อมูลเชิงลึก ระบุว่า นักดื่มรุ่นใหม่เมินเหล้าและเบียร์มากขึ้น โดยมีชาวอเมริกันมากกว่า 40% ในปี 2024 บอกว่ากำลังพยายามดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 34% ในปีที่ผ่านมา และในปีนี้สำหรับคนเจน Z ที่บอกว่าพยายามดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ได้เพิ่มสูงถึง 61% เมื่อเทียบกับ 40% ในปี 2023

หลายบริษัทอาหารหันมาเกาะเทรนด์อาหารสด

รายงานล่าสุดจาก FMI ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมอาหารระบุว่า 44% ของร้านขายของชำกำลังเพิ่มพื้นที่สำหรับผักผลไม้สด และ 19% กล่าวว่า พวกเขากำลังลดพื้นที่สำหรับทางเดินตรงกลาง ซึ่งเป็นที่วางเหล่าขนม

นอกจากนี้ รายงานของบริษัทวิจัยตลาดอย่าง Mintel ยังระบุว่า มีการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มอาหารสุขภาพ อาหารสดใหม่ และมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น และได้กระตุ้นให้ผู้ค้าปลีกใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการเสนออาหารที่หลากหลาย

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็น คือ “Food Lion” ซึ่งเป็นเครือซูเปอร์มาร์เก็ตระดับภูมิภาคของอเมริกา ได้ติดตั้งตู้เย็นสำหรับเก็บผักผลไม้ในหลาย ๆ สาขาของตน โดยได้เพิ่ม 35 ตู้ในปี 2015 เพิ่มอีกในปี 2018 และยังคงดำเนินการเพิ่มอยู่ หรือแม้แต่ “Dollar General” ร้านค้าปลีกชนบทชื่อดังในอเมริกา ก็ยังกระโดดเข้าร่วมเทรนด์นี้ โดยประกาศในเดือนมกราคมว่า จำนวนร้านค้าที่มีผักผลไม้สด มีจำนวนมากกว่า 5,000 แห่งแล้ว

อาหารสดมาพร้อมความเสี่ยงเน่าเสียง่าย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารสดมีความเสี่ยงเรื่องเน่าเสียง่าย ในปี 2012 Campbell Soup ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ซุปกระป๋อง ได้ซื้อกิจการ Bolthouse Farms ซึ่งเป็นบริษัทอาหารสดที่รู้จักกันในด้านแครอทและน้ำผลไม้แช่เย็น ในราคา 1,550 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบริษัทเผชิญความท้าทายการจัดการสินค้าสดและการเรียกคืนสินค้าที่เน่าเสีย ทำให้ Campbell ต้องขาย Bolthouse Farms ในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมามาก จนกลายเป็นเป็นบทเรียนสำคัญของการเข้าสู่ธุรกิจอาหารสดเหล่านี้

ขณะเดียวกัน มีบริษัทที่เข้าสู่เทรนด์ใหม่นี้ และประสบความสำเร็จ เช่น บริษัทอาหารข้ามชาติ Kraft Heinz ได้ทดลองนำเสนอแครกเกอร์ Lunchables ใหม่ที่รวมขนมปังและชีสกับผลไม้สด เช่น สับปะรด ส้มคลีเมนไทน์ แอปเปิ้ล และองุ่น เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการอาหารสดและเพื่อสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้มีอายุการเก็บรักษาเพียง 10 วัน เทียบกับ 90-110 วันของแครกเกอร์ Lunchables ธรรมดา และช่วยให้มีราคาขายสูงกว่า 1-2 ดอลลาร์ด้วย

นอกจากนี้ บริษัทเป๊ปซี่ได้แก้ปัญหายอดขายน้ำอัดลมที่ร่วง ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า Alvalle ซึ่งเป็นกัซปาโชหรือซุปมะเขือเทศเย็นจากสเปน ในรูปบรรจุกล่องเย็น ทุกส่วนผสมใน Alvalle เป็น “อาหารจริง” ทั้งมะเขือเทศ พริกแดง แตงกวา หอมใหญ่ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ น้ำส้มสายชู ไวน์ เกลือ กระเทียม และน้ำมะนาว อีกทั้งมีแคลอรี่ต่ำ ไฟเบอร์สูง สดใหม่ และไม่ผ่านการแปรรูปมากนัก เพื่อสอดรับกระแส “อาหารสด” ที่เป็นที่นิยมแทน “อาหารแปรรูป” มากขึ้น

อ้างอิง: bloombergcnbcกรุงเทพธุรกิจ