'ชายญี่ปุ่นเจน Z' ราว 30% มอง 'ความเท่าเทียมที่มากเกิน' ทำผู้ชายพลาดโอกาสในสังคม

'ชายญี่ปุ่นเจน Z' ราว 30% มอง 'ความเท่าเทียมที่มากเกิน' ทำผู้ชายพลาดโอกาสในสังคม

ผลสำรวจพบ ชายญี่ปุ่นเจน Z ราว 30% มองว่า การส่งเสริมความเท่าเทียมที่มากเกินไป ทำให้ตนพลาดโอกาสทางสังคม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าความหงุดหงิดเรื่องนี้อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรง

ผลสำรวจจากอิฟซอสส์เอสเอ บริษัทวิจัยความเห็นของสัญชาติฝรั่งเศส ได้สอบถามผู้คนเกือบ 22,000 คน จาก 29 ประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล และสังคม ในการบรรลุความเท่าเทียม ทั้งทางเพศ การจ้างงาน ความหลากหลายทางเพศและบุคคลที่พิการ

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 47% ทั่วโลกเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามส่งเสริมความเท่าเทียม แต่ผู้ชายเจน Z ใน 28 ประเทศมีความกังวลว่าการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมนั้นเกินขอบเขตที่สมเหตุสมผล

โดยผู้ชายเจน Z ในญี่ปุ่นมีความคิดเห็นในทิศทางนี้ราว 30% ขณะที่ผู้ชายเจน Z ในประเทศอื่น ๆ มีสัดส่วนอยู่ที่ 27%

ทั้งนี้ คนเจน Z คือคนที่เกิดระหว่างปี 2539 - 2555 และเป็นรุ่นต่อจากเจนมิลเลนเนียล แต่มาก่อนเจนอัลฟา

อิซึมิ สึจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยชูโอในกรุงโตเกียว และเป็นสมาชิกกลุ่มศึกษาเยาวชนญี่ปุ่น บอกว่า “ผมอยู่ร่วมกับคนเจน Z ทุกวันในมหาวิทยาลัย และใช่ ผู้ชายหลายคนรู้สึกว่าความสมดุลมันไปไกลเกินไป และมีความลำเอียงต่อพวกเขาอย่างมาก”

สึติ กล่าวกับ This Week in Asia ว่า ผู้ชายเจน Z รู้สึกว่า คนกลุ่มอื่นได้รับการปฏิบัติที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minorities) กลุ่มผู้พิการ หรือกลุ่มใด ๆ ก็ตาม ทำให้พวกเขาพลาดหลายโอกาส

ในทางตรงข้าม มีผู้หญิงเจน Z เพียง 20% และหญิงเจนมิลเลนเนียลในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่เชื่อว่า การผลักดันความเท่าเทียมในญี่ปุ่นไปไกลเกินไป

เมื่อถามเกี่ยวกับความสำเร็จในอาชีพและสังคม พบ ผู้ตอบแบบสอบถามเจน Z เพียง 30% ที่กล่าวถึงความสำเร็จของตัวเองว่ามาจากความสามารถส่วนบุคคล ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าความสำเร็จของตนได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ภายนอก

ชุนิชิ อุชิดะ ประธานอิปซอสส์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ท่ามกลางความพยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียม ทำให้ตนสงสัยว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะรู้สึกเหมือนถูกเลือกปฏิบัติเสียเองหรือไม่ และอุชิดะ พบว่า

“คนเจนเนอเรชัน Z ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความดีความชอบของตนเอง หรือได้ด้วยความพยายามของตัวเอง เพราะพวกเขารู้สึกว่า เมื่อโอกาสความเท่าเทียมมีมากขึ้น พวกเขาจะไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่คนรุ่นก่อนได้” อุชิดะเผย

ด้านสึจิ เตือนว่า การกีดกันผู้ชาย ซึ่งหลายคนสืบเชื้อสายมาจากพ่อและปู่ที่มีชื่อเสียงจากการฟื้นฟูญี่ปุ่นให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลังสงคราม อาจส่งผลให้เกิดการกระทำที่เป็นอันตรายได้

“ชายที่รู้สึกแบบนี้ มักขี้อายและไม่สามารถกล้าออกมาพูดคัดค้านสิ่งที่พวกเขามองว่าทำให้ตนถูกเลือกปฏิบัติ แต่บางคนก็แสดงอารมณ์โกรธออกมา ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่ลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่ความโกรธบางครั้งอาจเป็นอันตราย และอาจนำไปสู่ความรุนแรง” สึจิเผย

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์รุนแรงครั้งหนึ่งในญี่ปุ่น เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2564 เกียวตะ ฮัตโตริ ชายญี่ปุ่นวัย 24 ปี ก่อเหตุทำร้ายผู้โดยสารบนรถไฟใต้ดินเคโอในกรุงโตเกียว ทำให้มีคนบาดเจ็บ 17 ราย หลังเขาถูกจับกุม ฮัตโตริ เผยกับเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า เขาต้องการกระทำความผิดร้ายแรงมากพอที่จะทำให้ตนเองต้องโทษประหารชีวิต เพราะเขามีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน และสารภาพกับศาลว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากการกระทำของ ยูสุเกะ สึชิมะ ที่ก่อเหตุทำร้ายคนอื่นคล้ายๆกัน ก่อนหน้าฮัตโตริเพียงไม่กี่สัปดาห์

ท้ายที่สุด ฮัตโตริถูกตัดสินจำคุก 23 ปี

สึชิมะ วัย 36 ปี ทำร้ายผู้คนในรถไฟในกรุงโตเกียว จนมีคนบาดเจ็บ 10 ราย เมื่อเดือนส.ค. 2564 ต่อมาเขาเผยกับตำรวจว่า เขามุ่งเป้าไปที่ “คู่รักที่ดูมีความสุข” และเหยื่อรายแรกที่เขาเลือกเป็นผู้หญิงที่ดู “ประสบความสำเร็จในชีวิต”

ขณะที่คนเจน Z กลุ่มอื่น ๆ ค่อนข้างสับสนกับการปลดปล่อยความโกรธแบบผิดที่ผิดทาง เมื่อพิจารณาถึงโอกาสมากมายที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

อิสเซอิ อิซาวา ชายญี่ปุ่นวัย 25 ปี บอกว่า

“ผมไม่สามารถบอกได้ว่าผมเข้าใจผู้คนที่คิดว่าพวกเขาพลาดโอกาสด้านการงานให้กับผู้หญิง หรือคนจากกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับรอง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่เจอในการทำงานหรือในชีวิตได้หรือเปล่า เพื่อให้ทำอะไรได้ตามที่อยากทำ ผมไม่เข้าใจ ทำไมผู้คนต้องโกรธหรือเคียดแค้นผู้อื่น ในเมื่อพวกเขาก็สามารถทำได้ดีกว่า เพราะการโทษคนอื่นมันง่ายกว่าสินะ”

 

อ้างอิง: South China Morning Post