'โป๊ปฟรานซิส' เยือนอินโดนีเซีย แนะเฝ้าระวัง 'การก่อการร้ายทางศาสนา'

'โป๊ปฟรานซิส' เยือนอินโดนีเซีย แนะเฝ้าระวัง 'การก่อการร้ายทางศาสนา'

"สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส" พระราชทานพระราชดำรัสแรกในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือน "อินโดนีเซีย" โดยเรียกร้องให้เฝ้าระวังการก่อการร้ายทางศาสนา

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ให้เฝ้าระวังการก่อการร้ายทางศาสนา ที่บิดเบือนความเชื่อทางศาสนาของผู้คนด้วยการหลอกลวงและใช้ความรุนแรง

พระราชดำรัสแรกของโป๊ปฟรานซิสในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 12 วัน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีชาวคริสเตียนเป็นเพียงกลุ่มน้อยของประชากร พระองค์ตรัสว่า คริสตจักรคาทอลิกจะเพิ่มความพยายามในการสนทนาทางศาสนา เพื่อหวังว่าจะช่วยลดแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่ง

“อคติจะหายไปและบรรยากาศของความเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันจะเติบโต” โป๊ปฟรานซิส พระราชทานพระราชดำรัสแก่นักการเมืองและผู้นำทางศาสนาราว 300 คนในทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงจาการ์ตา

“สิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรับมือความท้าทายทั่วไป รวมทั้งการต่อต้านลัทธิสุดโต่ง และการไม่ยอมรับผู้อื่น ผ่านการบิดเบือนศาสนา รวมถึงการยัดเยียดความคิดเห็นของตนเองด้วยการใช้การหลอกลวงและความรุนแรง”

อย่างไรก็ตาม พระราชดำรัสของพระองค์ไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ความรุนใด ๆ อย่างเจาะจง แต่มีการตรัสถึงความสุดโต่ง การไม่ยอมรับผู้อื่น และการบิดเบือนของศาสนาอยู่หลายครั้ง

ทั้งนี้ ในระหว่างเยือนอินโดนีเซียของสมเด็จพระสันตะปาปา มีประชาชนออกมาต้อนรับพระองค์จำนวนมาก ผู้คนต่างโบกธงวาติกันและธงอินโดนีเซียต้อนรับเมื่อพระองค์เดินทางถึงทำเนียบปธน.

สมเด็จพระสันตปาปาที่มีพระอาการประชวรที่พระชานุและพระขนอง ประทับบนวีลแชร์ขณะทรงลงจากรถ พระองค์พบกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโดนอกอาคารทำเนียบ ก่อนที่กองเกียรติยศจะบรรเลงเพลงชาติอินโดนีเซียและวาติกัน ระหว่างทั้งสองเดินทางเข้าไปในทำเนียบ

นอกจากอินโดนีเซียแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปายังมีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินเยือนปาปัวนิวกินี ติมอร์ตะวันออก และสิงคโปร์ต่อไป

\'โป๊ปฟรานซิส\' เยือนอินโดนีเซีย แนะเฝ้าระวัง \'การก่อการร้ายทางศาสนา\'

อนึ่ง อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรราว 280 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีชาวมุสลิมประมาณ 87% ของประชากร และเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้เกิดเหตุความรุนแรงจากลัทธิสุดโต่งอยู่บ้าง รวมถึงการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเจมาอาห์ อันชารุต เดาเลาะห์ (Jamaah Ansharut Daulah) หรือ ‘เจเอดี' เมื่อปี 2564 และปี 2565

โดยเหตุระเบิดในปี 2564 เกิดขึ้นก่อนถึงวันอีสเตอร์ของชาวคริสเตียน ทำให้มีคนบาดเจ็บอย่างน้อย 19 ราย

 

อ้างอิง: Reuters