'ห่วงใย-เคารพวัฒนธรรม' การแพทย์ไทยมัดใจโซมาเลีย

'ห่วงใย-เคารพวัฒนธรรม'  การแพทย์ไทยมัดใจโซมาเลีย

บริการทางการแพทย์ของไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในยุทธภพ ด้วยมาตรฐานการบริการที่มีคุณภาพในระดับราคาหลากหลาย ซึ่งชาวโซมาเลียจะได้รู้จักประเทศไทยในฐานะทางเลือกการรักษาพยาบาลอีกประเทศหนึ่งจากปากคำของเอกอัครราชทูต

KEY

POINTS

  • จาบริล อิบราฮิม อับดุลเล (Jabril Ibrahim Abdulle) เอกอัครราชทูตโซมาเลียประจำประเทศเคนยา นำคณะนักธุรกิจเยือนไทย
  • วัตถุประสงค์มาเรียนรู้วัฒนธรรมของคนไทย, มาดูงานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) และหาหนทางร่วมมือกันระหว่างไทยกับโซมาเลีย 
  • ประเทศไทยคือมีภาคบริการที่คำนึงถึงประเด็นด้านวัฒนธรรมและศาสนา ผมเห็นโรงพยาบาลมีมัสยิดเล็กๆ ให้คนไข้เข้าไปละหมาด

บริการทางการแพทย์ของไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในยุทธภพ ด้วยมาตรฐานการบริการที่มีคุณภาพในระดับราคาหลากหลาย ซึ่งชาวโซมาเลียจะได้รู้จักประเทศไทยในฐานะทางเลือกการรักษาพยาบาลอีกประเทศหนึ่งจากปากคำของเอกอัครราชทูต

จาบริล อิบราฮิม อับดุลเล (Jabril Ibrahim Abdulle) เอกอัครราชทูตโซมาเลียประจำประเทศเคนยา นำคณะนักธุรกิจเยือนไทยเมื่อวันก่อนตามโครงการดูงานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีที่ดูแลโซมาเลียด้วย หลังเยี่ยมชมโรงพยาบาลเอกชนไทยหลายแห่ง และพบผู้ประกอบการด้านประมง ทูตโซมาเลียให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจถึงสิ่งที่ได้พบเจอ 

"การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สามประการครับ คือมาเรียนรู้วัฒนธรรมของคนไทย, มาดูงานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) และหาหนทางร่วมมือกันระหว่างไทยกับโซมาเลีย ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจไทยหลายราย" ทูตเปิดบทสนทนาและว่า โซมาเลียเพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 30 ปี สงครามสร้างความบอบช้ำและปัญหาทางการแพทย์ให้มากมาย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังดีขึ้นทุกขณะ ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด โรคหลักๆ ที่ป่วยคือหัวใจ เบาหวาน ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยจากการดำเนินชีวิต ทูตจึงต้องมาดูว่าประเทศใดให้บริการด้านนี้ได้บ้าง

ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ได้รับมาทราบว่า ผู้ป่วยในโซมาเลียมักไปหาหมอที่ตะวันออกกลางหรืออินเดีย แล้วทำไมท่านทูตถึงสนใจประเทศไทย 

"ขณะที่บริการทางการแพทย์มีพร้อมในหลายๆ ที่ แต่เมื่อคนเราป่วย คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าบริการเหล่านั้นอยู่ใกล้แค่ไหน แต่คำถามคือมีบริการอะไรให้บ้าง ใครจะมารักษาคุณ ใครจะดูแลคุณได้ดีที่สุด" ทูตกล่าวและว่า ประเทศไทยดูเหมือนไกลเมื่อเปรียบเทียบกับตะวันออกกลางและประเทศแอฟริกาอื่นๆ แต่บริการทางการแพทย์ของไทยนั้นโด่งดังไปทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือเป็นบริการที่ชาวโซมาเลียเข้าถึงได้ 

“อย่างการไปรักษาที่อินเดีย คนของเราใช้เงินถึงเกือบ 150 ล้านดอลลาร์ต่อปี เราจึงพยายามเสนอทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ใครอยากไปอินเดียก็ไปแต่ไทยก็เป็นทางเลือก ไม่เกี่ยวกับระยะทางแต่เป็นเพราะชาวโซมาเลียและตัวผมเชื่อว่าไทยให้บริการที่ดี” 

 ทูตกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่แค่การแพทย์ที่ต้องพิจารณา แต่ต้องดูถึงราคา ผลการรักษา และแนวทางการรักษาแบบองค์รวม หรือแนวทางอื่นๆ เช่น การใช้สมุนไพร ซึ่งในแง่นี้ประเทศไทยมีบริการทางเลือกมากมายเหมาะสมนำไปให้ชาวโซมาเลียได้พิจารณา 

  • เคารพวัฒนธรรม-ศาสนา

เนื่องจากประชากรโซมาเลียเป็นชาวมุสลิม 100% ทูตกล่าวว่า การจะไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศต้องมองหาประเทศที่เคารพศาสนา เคารพวัฒนธรรม มีอาหารฮาลาล เพราะนี่คือพื้นฐานที่แท้จริงเพิ่มเติมจากบริการทางการแพทย์ 

 “สิ่งที่เราเห็นจากประเทศไทยคือมีภาคบริการที่คำนึงถึงประเด็นด้านวัฒนธรรมและศาสนา ผมเห็นโรงพยาบาลมีมัสยิดเล็กๆ ให้คนไข้เข้าไปละหมาด ร้านอาหารมีอาหารฮาลาล แม้แต่ตลาดบางแห่งก็มีพื้นที่ขายอาหารฮาลาล นี่แหละที่เราต้องการ” ทูตกล่าวพร้อมยืนยันว่า ประเทศไทยมีบริการมากมายพร้อมสำหรับชาวมุสลิม ดีกว่าประเทศมุสลิมบางประเทศเสียอีก จึงเชื่อว่าชาวโซมาเลียจะมาไทยมากขึ้นในอนาคต อย่างน้อยๆ  คนที่เคยไปตะวันออกกลางมาแล้วก็จะมาที่นี่

  •  ความร่วมมือด้านประมง 

โซมาเลียเป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา มีปลามากมายที่ยังไม่ได้จับ คนโซมาเลียรับประทานปลาไม่มาก ชอบรับประทานเนื้อมากกว่า หลายประเทศเข้ามาในทะเลโซมาเลียเพื่อจับทูนา กุ้ง ลอบส์เตอร์ ซึ่งคนไทยรับประทานปลามาก โซมาเลียจึงนำเสนอโอกาสที่ดีให้กับนักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้ามาจับปลา 

ทูตแนะนำว่า ความร่วมมือทำได้สองรูปแบบคือรัฐบาลออกใบอนุญาตให้เรือไทยเข้าไปจับปลา หรือตั้งธุรกิจร่วมทุนกับนักธุรกิจโซมาเลีย จับปลานำมาแปรรูปในไทยแล้วส่งกลับไปขายยังโซมาเลียหรือประเทศแอฟริกาอื่นๆ เช่น เพื่อนบ้านโซมาเลียอย่างบุรุนดี รวันดา เป็นประเทศแลนด์ล็อก ไม่ติดทะเล ดังนั้นความต้องการปลาจึงสูงมาก

  • เชื่อมั่นประเทศไทย

การสนทนากับทูตโซมาเลียครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา ซึ่งทูตมองว่า การเมืองไทยไม่มีอะไรน่ากังวล 

"นั่นคือความงดงาม บางประเทศเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทุกสิ่งทุกอย่างถูกแช่แข็ง แต่ที่นี่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ไม่มีประเทศไหนเพอร์เฟ็ค ชีวิตต้องไปต่อ ไม่มีอะไรให้น่ากังวล" 

เมื่อกลับไปที่โซมาเลีย สิ่งที่ทูตต้องการบอกกับผู้คนที่นั่นคือ  "เราต้องไปบอกว่า แม้คนไทย 95% นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็น้อมรับวัฒนธรรมอิสลาม เรื่องราคาที่พูดกันว่าแพงมากก็ไม่จริง ราคาไม่แพงแล้วแต่ว่าคุณจะไปที่ไหน แบบแพงสุดหรือแบบรองๆ ลงมามีให้เลือกหลายระดับราคา และเรื่องที่ 3 คือ

ความพร้อม ไทยพร้อมมาก การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ค่อนข้างเร็วมาก บางที่ต้องรอ 6-8 เดือนกว่าจะได้ผ่าตัด แต่ที่นี่แค่ไม่กี่ชั่วโมง"

 และสิ่งที่สำคัญที่สุดในสายตาทูตคือ 

"คนไทยให้บริการทางการแพทย์แบบคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ พวกเขาทำแบบนี้จริงๆ ไม่ได้แค่ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพราะห่วงใยและอยากแบ่งปันความห่วงใยนั้น" 

  •  รู้จักโซมาเลีย 

ก่อนจากกันทูตแนะนำว่า โซมาเลียตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันออก ประชากรราว 18 ล้าน เคยผ่านสงครามกลางเมือง  ตอนนี้อยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กำลังเริ่มต้นอย่างครอบคลุม มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน โรงพยาบาล โรงเรียน ผู้คนจึงหลั่งไหลเข้ามาในโซมาเลียมากมายเพื่อแสวงหาโอกาส

ทูตยกตัวอย่างโซมาเลียกับเวียดนามเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่ใครๆ ก็บอกว่าเวียดนามทำอะไรไม่ได้เพราะสงครามกลางเมือง แต่ตอนนี้เศรษฐกิจดีมาก เพราะมีการลงทุน ไม่ต่างจากโซมาเลียตอนนี้

  • โอกาสทางธุรกิจ

ทูตเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปดูลู่ทางในโซมาเลีย ตอนนี้อาจมีความยากเล็กน้อย แต่จะได้ประโยชน์ในระยะยาว ธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น ประมง ซึ่งไทยเก่งด้านแปรรูปอาหารอยู่แล้ว นอกจากนี้โซมาเลียยังต้องการการผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะด้วยพลังงานสะอาดหรือพลังงานฟอสซิล หรืออย่างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่มาจากจีนและอินเดีย ขณะที่ไทยก็เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้  ผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูง

"นี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ เพราะตอนนี้เรากำลังเริ่มฟื้นตัว เราเลยต้องการทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ยาสีฟัน ปลากระป๋อง ไปจนถึงการเกษตร" ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่ไทยจะได้จากโซมาเลีย 

"ในทางภูมิศาสตร์เราอาจจะไกลมากแต่ในบริบทหมู่บ้านโลกเราห่างกันแค่วินาทีเดียวเท่านั้น" ทูตโซมาเลียกล่าวทิ้งท้าย \'ห่วงใย-เคารพวัฒนธรรม\'  การแพทย์ไทยมัดใจโซมาเลีย