มองโอกาสธุรกิจอิรักในมุม Geopolitics กับ ศราวุฒิ อารีย์
ในแวดวงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นหู
ในโอกาสที่ได้ร่วมคณะนักธุรกิจไทยมาเยือนอิรักกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมสังเกตการณ์การจับคู่เจรจาธุรกิจในกรุงแบกแดดและเมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน กรุงเทพธุรกิจชวนนักวิชาการรายนี้คุยเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศอิรัก
- ครั้งแรกกับอิรัก
แม้เยือนตะวันออกกลางมาแล้วหลายประเทศ ดร.ศราวุฒิยอมรับว่า เพิ่งมาอิรักเป็นครั้งแรก
“จริงๆ แล้วประเทศไทยกับอิรักมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาตั้งแต่สมัยซัดดัม ฮุสเซน แต่พอมีสงครามทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลง” ที่ใช้คำว่า “ขาดสะบั้น” นักวิชาการจากจุฬาฯ อธิบายว่า หมายถึง การที่ไทยต้องย้ายสถานทูตจากแบกแดดไปจอร์แดน แล้วสถานทูตอิรักในประเทศไทยก็ต้องปิดตัวลงไปโดยปริยาย เหมือนกับความสัมพันธ์ไม่มีอยู่เลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
- ศักยภาพของประเทศ
อย่างไรเสีย อิรักในมุมมองของ ดร.ศราวุฒิก็มีศักยภาพ ถ้าดูจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นประเทศที่เชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแถวริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ และยังติดเอเชียกลางอย่างอิหร่าน การที่อิรักอยู่ตรงกลางสามารถเชื่อมโยงตลาดการค้าการขายได้ทั้งหมด จึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก
นอกจากนี้อิรักเป็นประเทศที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมาย ยังไม่ได้เอามาใช้มากนักหลังซัดดัม ฮุสเซน บุกคูเวตแล้วถูกตะวันตกคว่ำบาตรมาตลอด ทรัพยากรน้ำมันในอิรักจึงมีอยู่มาก ไม่เหมือนกับประเทศในอ่าวเปอร์เซียที่เอาน้ำมันออกมาใช้ทุกวัน
“เพราะฉะนั้นอิรักเป็นประเทศที่มีศักยภาพแต่ก็มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย ความท้าทายภายในประเทศคือการแย่งชิงอำนาจ และการเมืองที่ยังไม่เสถียรมากนัก”
กล่าวคือ ถ้ามองจากแบกแดดที่เป็นศูนย์กลางเข้ามา ดินแดนของอิรักแบ่งเป็นสามส่วนชัดเจน ทางเหนือเป็นของชาวเคิร์ด ภาคกลางเป็นของซุนนีย์ ภาคใต้คนส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ การแย่งชิงอำนาจจึงค่อนข้างสูง หลายพื้นที่ในอิรักถ้าไม่นับรวมเคอร์ดิสถาน เป็นพื้นที่ที่กองกำลังติดอาวุธมีอิทธิพล
“การจะเข้ามาดีลธุรกิจการค้าในอิรักจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเราต้องรู้จักกับเจ้าของที่ ต้องมีเส้นมีสายกับพวกกองกำลังติดอาวุธ รวมถึงการที่อิรักเป็นดินแดนที่มหาอำนาจทั้งในภูมิภาคและโลกเข้ามาช่วงชิง อิรักเป็นสนามกลางของการต่อสู้ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ นี่คือความท้าทาย”
- รู้จักเคอร์ดิสถาน
ดร.ศราวุฒิอธิบายเพิ่มเติมถึงภูมิภาคนี้ว่า เป็นดินแดนที่อยู่กับสหรัฐมาโดยตลอด ชาวเคิร์ดช่วยสหรัฐต่อสู้กับซัดดัม ฮุสเซน นับตั้งแต่หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 ต่อมาปี 1991 สหรัฐตั้งโนฟลายโซนขึ้นทางใต้และทางเหนือในดินแดนเคอร์ดิสถาน จึงทำให้เคอร์ดิสถานเป็นเหมือนเขตปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี 1990 และได้รับการปกป้องจากสหรัฐ เห็นได้ว่าดินแดนตรงนี้แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมายจากภาวะสงครามตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“ทรัพยากรของเคอร์ดิสถานคือน้ำมัน สามารถขายให้ทั้งอิสราเอล ตุรกี และอีกหลายๆ ประเทศ จึงเห็นได้ว่าเคอร์ดิสถานเป็นดินแดนที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ”
- ความปลอดภัยของการทำธุรกิจในอิรัก
โลกภายนอกเมื่อพูดถึงอิรักก็ยังมองว่าเป็นดินแดนที่ยังไม่ปลอดภัย เกิดความไม่สงบยังต่อเนื่อง เป็นดินแดนที่มหาอำนาจหลายฝ่ายยังเข้ามาช่วงชิงอิทธิพล ดร.ศราวุฒิยกตัวอย่างการลอบสังหารนายพลโกเซ็ม สุไลมานีของอิหร่าน ที่นอกสนามบินแบกแดดเมื่อปี 2020
“เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในประเทศอิรัก”
ส่วนทางภาคใต้ยังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะเมื่อไอซิสเข้ามายึดเมืองโมซุลเป็นศูนย์กลาง หลังจากนั้นหลายฝ่ายกังวลเรื่องแนวคิดหัวรุนแรง นักวิชาการจากจุฬาฯ เตือนว่า วันนี้ถ้าคนอิรักจะเข้าไปทำงานหรือไปทำธุรกิจในประเทศไทย หรือไปท่องเที่ยว ประเทศไทยต้องตรวจสอบค่อนข้างสูงว่าเป็นใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เป็นพวกหัวรุนแรงหรือไม่
“วันนี้ถ้าถามว่าดินแดนตรงไหนในอิรักที่เราควรเข้ามาก็คือเคอร์ดิสถาน ส่วนที่เหลือยังไม่แน่นอน” ดร.ศราวุฒิสรุป
- อนาคตเคอร์ดิสถาน
จากข้อมูลที่กล่าวมา ชวนสงสัยว่า หากสหรัฐทิ้งเคอร์ดิสถานขึ้นมาในวันหนึ่ง สถานะของภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไร ยังน่าลงทุนอยู่อีกหรือไม่ ดร.ศราวุฒิกล่าวว่า เคอร์ดิสถานมีคณะปกครองที่ฉลาดหลักแหลม ไม่ได้พึ่งพาสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ยังติดต่อกับจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับรัฐบาลตุรกี รวมถึงพยายามเข้าหาอิหร่านด้วย ในแง่นี้คิดว่าทำให้เคอร์ดิสถานมีความปลอดภัย คล้ายๆ กับบทบาทของจอร์แดน
กล่าวคือจอร์แดนเป็นประเทศเล็กๆ ที่ต้องพึ่งพารายได้จากภายนอก เพราะฉะนั้นต้องพยายามสร้างดุลอำนาจคบกับทุกฝ่าย ไม่เป็นศัตรูกับใครแม้แต่กับอิสราเอล เพื่อดึงเงินจากมหาอำนาจ ดึงการลงทุนจากอิสราเอล ทำให้จอร์แดนแม้ไม่มีทรัพยากรแต่ก็อยู่ด้วยตนเองได้ เคอร์ดิสถานก็เหมือนกันแต่ปัญหาที่กังวลคือเมื่อเคอร์ดิสถานเป็นเขตปกครองตนเองเพียงแห่งเดียวในสี่ประเทศที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ ทั้งอิรัก ซีเรีย อิหร่าน ตุรกี (จำนวนมากที่สุด) ก็อาจเป็นความหวังให้ชาวเคิร์ดในประเทศอื่นได้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเพื่อสร้างโมเดลแบบเคอร์ดิสถาน ทำให้ประเด็นเคอร์ดิสถานเป็นเรื่องอ่อนไหว ในอนาคตอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะชาวเคิร์ดไม่ได้มีในประเทศเดียว
- หากอิรักยกเลิกสถานะปกครองตนเอง
สินค้าไทยส่วนหนึ่งมีวางขายในเคอร์ดิสถานแล้ว ส่วนหนึ่งมีโอกาสสานต่อผลพวงจากการเจรจาจับคู่ธุรกิจ แล้วถ้าหากวันหนึ่งอิรักอยากยกเลิกสถานะปกครองตนเองของเคอร์ดิสถาน จะส่งผลต่อธุรกิจไทยหรือไม่ ดร.ศราวุฒิกล่าวว่า ความเป็นอิสระของเคอร์ดิสถานระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว เคอร์ดิสถานพยายามแยกตัวออกมาเป็นประเทศอิสระ ทำประชามติในปี 2019 และพยายามเคลื่อนไหวในเวทีสหประชาชาติให้ดินแดนส่วนนี้เป็นรัฐอิสระ แต่รัฐธรรมนูญอิรักไม่เอื้อให้เกิดการแยกตัวเป็นประเทศใหม่
"เคอร์ดิสถานมีกองกำลังเรียกว่า Peshmerga การจะล้มล้างเคอร์ดิสถานไม่ง่าย ถ้ามีการต่อสู้หรือบิดพลิ้วจะกลายเป็นโอกาสของชาวเคิร์ดด้วยซ้ำไปที่จะนำไปสู่การตั้งประเทศใหม่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลอิรักต้องมีความสัมพันธ์กับเคอร์ดิสถานแบบนี้" นักวิชาการกล่าวและว่า ในความสัมพันธ์กับเคอร์ดิสถาน รัฐบาลอิรักมีสองทางเลือกเท่านั้นคือ ยอมให้มีเขตปกครองตนเองในลักษณะที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งสรรทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำมัน ว่าจะแบ่งอย่างไรระหว่างรัฐบาลอิรักกับเคอร์ดิสถาน
ส่วนวิธีที่ 2 ถ้ารัฐบาลอิรักไม่ยอม ชาวเคิร์ดก็มีความชอบธรรมที่จะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ เพราะเคยมีการลงประชามติแล้ว สหรัฐก็ให้การสนับสนุน ตอนนี้ชาวซุนนีย์ได้ออกมาต่อรองว่า อยากมีเขตปกครองตนเองเหมือนกับชาวเคิร์ดบ้าง เพราะฉะนั้นโอกาสที่รัฐบาลอิรักจะยกเลิกเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานจึงเป็นไปได้ยาก
- เคอร์ดิสถานฉบับย่อ
*เคอร์ดิสถานมีชายแดนติดกับตุรกี อิหร่าน และซีเรีย เมืองหลวงคือเออร์บิล (Erbil) หรือ ฮอว์เลอร์ (Hawler) ในภาษาเคิร์ด ปกครองโดยรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน
*การก่อตั้งภูมิภาคเคอร์ดิสถานย้อนไปได้ถึงปี 1970 หลังจากสู้รบหนักหน่วงมาหลายปีเดือน มี.ค. 1970 รัฐบาลแบกแดดลงนามข้อตกลงประกาศเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน
*สงครามอิหร่าน-อิรักในช่วงทศวรรษ 1980 และการสังหารหมู่อันฟาลของกองทัพอิรักสร้างความเสียหายให้กับประชากรและธรรมชาติของเคอร์ดิสถานเป็นอย่างมาก
*หลังชาวเคิร์ดลุกฮือขึ้นต่อต้านซัดดัม ฮุสเซนในปี 1991 ชาวเคิร์ดจำนวนมากจำต้องลี้ภัยบริเวณชายแดนอิหร่านและตุรกี
*การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอิรักหลังยุคซัดดัมนำไปสู่การให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญอิรักฉบับใหม่ในปี 2005 กำหนดให้เคอร์ดิสถานเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางที่ได้รับการยอมรับ ภาษาเคิร์ดเป็นภาษาทางการภาษาหนึ่งของประเทศ และเป็นภาษาทางการเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาค
*เคอร์ดิสถานปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ส.ส.111 คน
ที่มา: https://gov.krd/boi-en/why-kurdistan/region/facts-figures/