มองการรื้อถอนเขื่อนใหญ่ในสหรัฐ | ไสว บุญมา
ชาวอเมริกันจำนวนมากจากหลากหลายสายงาน พร้อมกันออกมาแสดงความดีใจในความสำเร็จของโครงการรื้อถอนเขื่อนใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เรื่องนี้คงไม่เป็นข่าวในเมืองไทย หรือไม่ก็อาจถูกกลบเกือบหมดโดยข่าวใหญ่เกี่ยวกับรัฐบาลต้องการรื้อฟื้นแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นแม่น้ำยมในเขต จ.แพร่
โครงการรื้อถอนเขื่อนดังกล่าวครอบคลุมลุ่มแม่น้ำคลามัธ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐออริกอน แม่น้ำสายนั้นมีเขื่อนกั้นอยู่ 4 แห่งซึ่งอายุกว่า 100 ปี เป้าหมายเบื้องต้นของการสร้างเขื่อนเหล่านั้น ก็เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยบริษัทเอกชน ซึ่งในปัจจุบันเป็นหนึ่งในกิจการพลังงานที่มหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือหุ้นใหญ่
การรื้อถอนเขื่อนในสหรัฐทำกันอย่างต่อเนื่องมานาน เมื่อปีที่ผ่านมามีการรื้อถอนถึง 79 แห่ง แต่มักไม่เป็นข่าวแพร่หลายนักเนื่องจากไม่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมถึง 4 เขื่อนซึ่งรวมกันเป็นการรื้อถอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ผู้ขับเคลื่อนหลักในการรื้อถอนเขื่อนในสหรัฐ มักเป็นองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในหลายๆ กรณีมีการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากชาวอเมริกันพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งคนไทยมักเรียกว่าอินเดียแดง
ทั้งนี้เพราะเขื่อนทุกแห่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและในหลายๆ กรณีมีต่อวิถีชีวิตของชาวอเมริกันดั้งเดิม ซึ่งพึ่งธรรมชาติรอบด้านเพื่อผลิตปัจจัยสี่
ในกรณีของ 4 เขื่อนกั้นสายน้ำคลามัธ สัตว์ที่เป็นทั้งอาหารและปัจจัยสำคัญทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกันดั้งเดิม ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาชนิดนี้มีวงจรชีวิตเป็นเอกลักษณ์คือ หลังออกจากไข่ที่แม่ปลาวางไว้ตามต้นสายน้ำท่ามกลางป่าเขา
ลูกปลาจะไหลไปกับสายน้ำเพื่อไปเติบโตในทะเล เมื่ออายุถึงวัยเจริญพันธุ์ ปลาเหล่านั้นจะพากันว่ายทวนสายน้ำเดิมกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่ในย่านที่ตนเกิดแล้วก็ตาย
เขื่อนเป็นอุปสรรคหลักในวงจรชีวิตของปลาแซลมอน แม้เขื่อนบางแห่งจะสร้างทางเบี่ยงให้ปลาว่ายย้อนกระแสน้ำไปได้ก็ตาม
นอกจากการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว เขื่อนทั้ง 4 มีอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลายสายพันธุ์ พร้อมกับปันน้ำให้เกษตรกร อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ นี้ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดปัญหาสาหัสหลายด้าน
เช่น การอุ่นขึ้นของน้ำในอ่างโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความแห้งแล้งเป็นเวลานาน ทำให้ปลาบางสายพันธุ์ตายส่งผลให้เกิดโรคระบาดจนปลาสายพันธุ์อื่นเป็นจำนวนมากตายด้วย เมื่อน้ำมีน้อยจนไม่พอปันกันก็เกิดการชิงน้ำแบบเข้มข้น จนเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของสงครามชิงน้ำที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก
การรื้อถอนเขื่อนในสหรัฐมักเกิดจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายเอกชน ที่สนใจในการรื้อฟื้นสิ่งแวดล้อมแต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าและทำการเกษตร กระบวนการรื้อถอนจึงอาจใช้เวลานับสิบปีก่อนที่จะสำเร็จ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ การรื้อถอนเป็นไปอย่างกว้างขวางจนอาจเรียกได้ว่าเป็นแนวโน้มและค่านิยมใหม่ในสหรัฐแล้ว
การรื้อถอนเขื่อนบนแม่น้ำคลาแมธ
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation
เมื่อปีที่ผ่านมา จึงมีการรื้อถอนเขื่อนใน 25 จาก 50 รัฐนำโดยรัฐเพนซิลเวเนีย (15) ตามด้วยรัฐโอริกอน (9) และรัฐแมสซาชูเซตส์ (6)
การรื้อถอนเขื่อนไม่จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐเท่านั้น หากยังทำกันอย่างกว้างขวางขึ้นในยุโรปอีกด้วยโดยในปีที่ผ่านมามีการรื้อถอนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นำโดยฝรั่งเศสตามด้วยสเปน สวีเดนและเดนมาร์ก
ปัจจัยที่นำไปสู่การรื้อถอนได้แก่ ผลได้จากการไม่รื้อถอนน้อยกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลที่อ้างมานี้น่าจะชี้ชัดว่า ประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามากแล้วกำลังเดินสวนทางกับประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย ซึ่งสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นตามข้ออ้างต่างๆ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า การป้องกันน้ำท่วมและการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกับโรงงานอุตสาหกรรม
ข้ออ้างเหล่านี้ไม่ต่างกับข้ออ้างที่ประเทศพัฒนาจนก้าวหน้ามากแล้วเคยใช้ ฉะนั้น แทนที่จะทุ่มเงินทุนก้อนใหญ่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในวันนี้แล้วไปใช้ทุนอีกก้อนเพื่อรื้อถอนมันในวันข้างหน้า ไทยควรพิจารณายกเลิกแนวคิดที่จะสร้างอย่างถาวรเสียในตอนนี้.