จับเทรนด์ผู้นำอาเซียนผลัดใบ'แนบแน่นไทยแลนด์' l Leaders' Move

จับเทรนด์ผู้นำอาเซียนผลัดใบ'แนบแน่นไทยแลนด์' l Leaders' Move

นับตั้งแต่ปี 2566 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนตัวผู้นำตามกลไกประชาธิปไตย ล่าสุดคือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรของไทย ที่เพิ่งนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ เริ่มต้นทำหน้าที่เต็มตัว พร้อมกับสัญญาณมิตรภาพจากเพื่อนผู้นำอาเซียนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

  • กัมพูชา ‘บ้านใหญ่โมเดล’

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งปี 2566 คือการเลือกตั้งกัมพูชาในวันที่ 23 ก.ค. (ไทยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.) พรรคประชาชนกัมพูชา(ซีพีพี) ของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนคว้าชัยชนะแลนด์สไลด์ 120 คนจากทั้งสภา 125 คน แต่ฮุนเซนซึ่งครองอำนาจมานานถึง 38 ปีส่งสัญญาณมาก่อนหน้าแล้วว่า เขาจะส่งไม้ต่อให้ “ฮุน มาแนต” ลูกชายคนโตขึ้นเป็นผู้นำประเทศ 

สี่วันถัดมาฮุนเซนประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ  ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ แต่จะให้พล.อ.ฮุน มาแนต บุตรชายคนโต วัย 45 ปี ซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสมัยแรก  เป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แน่นอนว่าการขึ้นเป็นนายกฯ ของฮุน มาแนต ถูกครหาว่า “พ่อให้มา” บรรดาคณะรัฐมนตรีของเขาคละเคล้ากันไปทั้งนักการเมืองหน้าเก่าคนของพ่อ และลูกหลานรัฐมนตรี “โมเดลบ้านใหญ่” แบบนี้มีข้อดีตรงที่ว่า นักการเมืองรุ่นใหม่จบการศึกษาจากต่างประเทศ มีแนวคิดเปิดกว้าง ตัวนายกฯ เอง จบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐ ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 2542 จากนั้นได้ศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์จนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ

เรื่องเรียนหนังสือถือว่า ฮุน มาแนต มีโอกาสมากกว่าพ่อ ที่ต้องจับปืนเข้าร่วมกับเขมรแดงตั้งแต่เป็นวัยรุ่น การเป็นนักเรียนนอกทำให้ฮุน มาแนต มีใจเปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง ตัวอย่างเช่น ก่อนการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษที่ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค.2018  ฮุนเซนขู่ว่าจะคว่ำบาตรการประชุม และส่งคำข่มขู่ไปถึงชาวออสเตรเลียเชื้อสายกัมพูชาที่วางแผนมาร่วมประท้วง  

"ผมจะบอกว่า อย่าเผารูปผม ผมจะตามคุณไปถึงบ้าน ไปถึงบ้านเลยแล้วก็ซ้อมคุณที่บ้าน ผมบอกชัดแล้วนะ คุณมีสิทธิที่จะเผารูปผม ผมมีสิทธิจะสู้กับคุณ ก็ไม่เป็นไร ผมจะไปถึงบ้านแล้วจับคุณ" 

ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค. ฮุน มาแนต ไปร่วมการประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษที่นครเมลเบิร์น ระหว่างที่เขาไปร่วมกิจกรรมของชาวออสเตรเลียเชื้อสายกัมพูชา ปรากฏว่ามีทั้งม็อบหนุนและม็อบต้านออกมาแสดงพลัง แต่สิ่งที่แตกต่างตามคำบอกเล่าของนักข่าวชาวกัมพูชารายหนึ่งคือ ฮุน มาแนตกล่าวว่า ตนเข้าใจว่ามีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ  แต่ขอให้ทั้งสองม็อบแสดงออกอย่างสันติ อย่าตีกันเองก็พอ นี่คือความแตกต่างระหว่างนายกรัฐมนตรีผู้พ่อและผู้ลูกต่อปรากฏการณ์แบบเดียวกัน  

  • อินโดนีเซียได้ประธานาธิบดีใหม่

14 ก.พ. อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังจากโจโก วิโดโด อยู่ในตำแหน่งมาสองวาระครบ 10 ปี จำเป็นต้องเปลี่ยนตัว ปราโบโว สุเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับเลือกตั้งและมีกำหนดทำพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ต.ค.นี้ คนที่ลงเลือกตั้งรองประธานาธิบดีของสุเบียนโตคือ กิบราน ราคาบูมิงรากา นายกเทศมนตรีเมืองสุรากาตาร์ วัย 37 ปี บุตรชายของประธานาธิบดีโจโกวี

กลางเดือน ต.ค.ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียมีมติ บุคคลซึ่งเคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับภูมิภาคมาก่อน สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีและยกเลิกเกณฑ์อายุขั้นต่ำ 40 ปี ของผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีได้ ซึ่งจุดชนวนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าประธานาธิบดีกำลังจะสืบทอดอำนาจให้ลูก ประกอบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญยังมีศักดิ์เป็นน้องเขยของประธานาธิบดีอินโดนีเซียจึงเป็นเหตุให้ชวนสงสัย

 แต่ประธานาธิบดีวิโดโดย้ำว่าไม่เคยมีความคิดให้บุตรชายหรือบุคคลใดในตระกูลมาสืบทอดอำนาจทางการเมือง และไม่ให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่บุคคลใดอย่างเด็ดขาด

  • สิงคโปร์ได้ผู้นำรุ่น 4

วันที่ 15 เม.ย. นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ให้ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับไม้ต่อ หว่องสาบานตนรับตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 15 พ.ค. 

  นายกฯ ลีเป็นอีกหนึ่งคนที่ส่งสัญญาณลงจากอำนาจมานานแล้ว และสิงคโปร์มีแผนผลัดเปลี่ยนตัวผู้นำมาตลอดก่อนมาลงตัวที่หว่อง วัย 51 ปี การเป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ถือเป็นผลงานอันโดดเด่น 

  • แพทองธาร นายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทย 

แพทองธาร ชินวัตร  ได้รับความไว้วางใจจากสภาลงมติเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 สืบต่อจากเศรษฐา ทวีสิน ที่พ้นตำแหน่งเพราะคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ  จับเทรนด์ผู้นำอาเซียนผลัดใบ\'แนบแน่นไทยแลนด์\' l Leaders\' Move

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เหล่าผู้นำอาเซียนได้เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย แสดงความยินดีกับนายกฯ แพทองธาร ที่สะท้อนไปถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี ทันทีที่เธอได้รับการลงมติจากสภา สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาส่งสารแสดงความยินดี ตามด้วยนายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต  จับเทรนด์ผู้นำอาเซียนผลัดใบ\'แนบแน่นไทยแลนด์\' l Leaders\' Move

วันที่ 18 ส.ค. ถึงคิวนายกฯ หว่องของสิงคโปร์ส่งสารแสดงความยินดี และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์โพสต์โซเชียลมีเดียว่า ได้โทรศัพท์แสดงความยินดีกับนายกฯ แพทองธารในวาระที่ได้ดำรงตำแหน่ง 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงเผยว่า นายกฯ หว่องของสิงคโปร์มีกำหนดเยือนไทยต้นปีหน้าแต่ยังไม่ได้กำหนดวัน 

ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ปราโบโว สุเบียนโต โพสต์เฟซบุ๊คช่วงสายวันเสาร์ (7 ก.ย.) กล่าวถึงการได้รับเชิญรับประทานอาหารเย็นเมื่อคืนวันศุกร์ (6 ก.ย.) ที่บ้านพักของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในกรุงเทพฯ มีการบันทึกภาพคู่กัน และมีนายกฯ แพทองธารที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ มาร่วมเฟรมด้วย บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น  จับเทรนด์ผู้นำอาเซียนผลัดใบ\'แนบแน่นไทยแลนด์\' l Leaders\' Move

ทั้งหมดนี้คือการประมวลภาพความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาผู้นำใหม่ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ล้วนเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าผู้นำมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การดำเนินนโยบายต่างประเทศก็ราบรื่น