‘อินเดีย’ ถอดบทเรียนหาบเร่ ‘ไทย - สิงคโปร์’ เตรียมจัดระเบียบ 500 แผงลอยริมถนน

‘อินเดีย’ ถอดบทเรียนหาบเร่ ‘ไทย - สิงคโปร์’ เตรียมจัดระเบียบ 500 แผงลอยริมถนน

รัฐบาล ‘อินเดีย’ ถอดบทเรียน ‘ไทย - สิงคโปร์’ ตั้งเป้าจัดระเบียบร้านค้าหาบเร่แผงลอยริมถนนกว่า 500 แห่งในเมืองต่างๆ ภายใน 5 ปี ตั้งโครงการเลือกเมืองที่ผ่านเกณฑ์ ย้ำต้องมี น้ำดื่มสะอาด ห้องน้ำ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ

เว็บไซต์เดอะปรินท์(ThePrint) รายงานว่ารัฐบาล “อินเดีย” ที่นำโดย นเรนทรา โมดี กำลังวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อพัฒนาศูนย์รวมการค้าขายริมถนน 500 แห่งในเมืองต่างๆ ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยกระทรวงที่อยู่อาศัย และกิจการเมือง (Ministry of Housing and Urban Affairs, MoHUA) ของอินเดียกำลังศึกษารูปแบบตลาดการค้าขายจากต่างประเทศ เช่น ในประเทศไทย สิงคโปร์ และประเทศในละตินอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาพัฒนาตลาดการค้าขายในเมืองต่างๆ 

ในการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับงบประมาณประจำปีนี้ นิรมลา สีตารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินเดียได้ประกาศแผนการพัฒนา "ตลาดนัดรายสัปดาห์หรือศูนย์อาหารริมทาง" จำนวน 100 แห่งต่อปีในเมืองที่ได้รับการคัดเลือก โดยจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี 

ขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังวิเคราะห์โมเดลทำในเมืองต่างๆ ในประเทศไทย สิงคโปร์ โบโกตา (โคลอมเบีย) และเมืองอื่นๆ ในละตินอเมริกา ซึ่งมีตลาดนัดที่คึกคัก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้ง 2 คนกล่าวว่า อินเดียกำลังศึกษาตลาดนัดยอดนิยมระดับนานาชาติ และแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อดูกฎเกณฑ์ และข้อบังคับในเมืองเหล่านี้สำหรับการจัดตั้ง และบริหารจัดการตลาด ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงข้อจำกัด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ในเมืองต่างๆ

จัดระเบียบ ‘หาบเร่-แผงลอย’ ริมถนน

แนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนแนวคิดเรื่องตลาดการค้าขาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าริมทางสามารถขยายธุรกิจได้ แต่ปัญหาสำคัญที่พ่อค้า แม่ค้ากำลังเผชิญอยู่คือ พื้นที่ค้าขายในเมืองมีจำกัด และผู้ค้าหลายรายเผชิญกับปัญหาการถูกไล่รื้อ ตามเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่กระทรวง และนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสวัสดิภาพของพ่อค้าแม่ค้าริมทาง

แม้ว่าในอินเดียจะมีพระราชบัญญัติผู้ค้าขายริมถนน พ.ศ.2557 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ค้าขายสำหรับร้านค้าริมทาง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์การคัดเลือกเมืองที่เหมาะสม โดยหนึ่งในเกณฑ์สำคัญคือเมืองนั้นต้องมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่เพียงพอภายในตลาด เช่น น้ำดื่มสะอาด ห้องน้ำ ห้องเด็กเล่น พื้นที่จำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ

 

ในปัจจุบัน เมืองที่สามารถนำมาพัฒนาจะมีจำนวนจำกัด แต่ตัวอย่างความสำเร็จในเมืองต่างๆ เช่น รันชี (รัฐฌารขัณฑ์) การ์วาร์ (รัฐกรณาฏกะ) และอินดอร์ (รัฐมัธยประเทศ) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารูปแบบธุรกิจนี้ได้กลายเป็นต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ

พ่อค้า แม่ค้าเข้าใจตลาดท้องถิ่นดีที่สุด

แม้ว่ากระทรวงจะยังไม่สรุปรายละเอียดของโครงการนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เหล่าผู้ค้าควรได้รับการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนโครงการนี้ และพ.ร.บ.ผู้ค้าขายริมถนน พ.ศ.2557 ที่บัญญัติไว้ชัดเจน แต่มีตลาดเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับการพัฒนาเนื่องจากขาดการวางแผนที่เหมาะสม

ชาลินี สิงหา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เอเชียของของโครงการ Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing (WIEGO) ได้ชี้ให้เห็นว่า โมเดลตลาดจากประเทศทางเหนือของโลกอาจไม่สามารถนำมาปรับใช้ในอินเดียได้จริง เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้ค้าในการออกแบบ และพัฒนาระบบตลาดขายของอัตโนมัติ เนื่องจากผู้ค้าเป็นผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับความต้องการของตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในท้องถิ่น

อาร์บินด์ ซิงห์ ผู้ก่อตั้ง NASVI ซึ่งเป็นเครือข่ายสมาคมผู้ค้าขายริมถนนของอินเดีย ได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลักที่ขัดขวางการพัฒนาตลาดสำหรับผู้ค้าขายริมถนนคือ การขาดการวางแผนที่รอบด้าน ซึ่งฝ่ายบริหารของเมืองแทบไม่ได้พยายามหาพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าเลย และในบางครั้งพื้นที่ ที่จัดสรรให้ผู้ค้าก็อยู่ห่างไกลจากย่านการค้าหลัก ซึ่งในความเป็นจริงทำเลค้าขายต้องอยู่ใกล้กับตลาดหลักที่มีผู้คนพลุกพล่าน นอกจากนี้การจัดสรรพื้นที่ในอาคารหรือสถานที่ ที่เข้าถึงยาก และห่างไกลจากผู้คนจะไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งกระทรวงควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ในรายละเอียดของโครงการ

อ้างอิง theprint 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์