ACFTA 3.0 สู่ความรุ่งเรืองร่วมกันแห่งยุคดิจิทัล | ASEAN Insight
จีนและอาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจา ACFTA 3.0 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนให้ทันสมัย และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการแก้ไขปัญหาทางการค้า
การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือ ASEAN-China Free Trade Agreement (ACFTA) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2002 ส่งผลให้อาเซียนและจีนมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ข้อตกลงนี้ได้พัฒนาเรื่อยมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของการค้าระหว่างสองภูมิภาค
ปัจจุบันจีนและอาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจา ACFTA 3.0 หรือ ASEAN-China Free Trade Agreement 3.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนให้ทันสมัย และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและการค้าสมัยใหม่ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืน และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางการค้าใหม่ ๆ เช่น การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการบริการ
เป้าหมายหลักของ ACFTA 3.0 ประกอบด้วย
การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล : เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยี 5G อีคอมเมิร์ซ และการเชื่อมต่อดิจิทัลระหว่างอาเซียนและจีน เพื่อสนับสนุนการค้าดิจิทัลและการบริการที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว : ACFTA 3.0 มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว
การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน : ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานระหว่างอาเซียนและจีน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก ลดอุปสรรคการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ
การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) : ลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าดิจิทัล เช่น ข้อกำหนดด้านการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ และการควบคุมข้อมูลข้ามพรมแดน
การพัฒนาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนให้เป็นกรอบการค้าเสรีที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องให้ความสำคัญดังต่อไปนี้
ประการแรกคือ การกำหนดกฎทวิภาคีด้านการค้าดิจิทัล (Bilateral Rule-setting on Digital Trade) เพื่อสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับทั้งอาเซียนและจีน การค้าดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่ทันสมัยและมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ อาเซียนและจีนควรกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูล การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดการกับปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์
ประการที่ 2 การพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) การเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนและจีน โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคสามารถซื้อขายสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างสะดวก ทั้งสองภาคีควรมุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้า เช่น การลดภาษีศุลกากรที่ซับซ้อน การเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก และการสร้างระบบที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานศุลกากรของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการชำระเงินออนไลน์ที่ปลอดภัย เพื่อเพิ่มความสะดวกและความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
นอกจากนั้นทั้งสองภาคีควรลดมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญ เช่น ข้อกำหนดด้านการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ การเข้าถึงข้อมูล หรือการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางการค้าดิจิทัลระหว่างอาเซียนและจีน
ACFTA 3.0 ในยุคดิจิทัลถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและจีน การกำหนดกฎระเบียบที่ทันสมัยสำหรับการค้าดิจิทัล การส่งเสริมการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การขยายความร่วมมือในภาคบริการ และการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของทั้งสองภูมิภาค ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างความรุ่งเรืองร่วมกันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว