‘ความหลากหลาย’ ในองค์กรกำลังถูกมองข้าม ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือการตลาด

‘ความหลากหลาย’ ในองค์กรกำลังถูกมองข้าม ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือการตลาด

‘ความหลากหลาย’ ในองค์กรกำลังถูกมองข้าม หลังบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้มีอิทธิพลอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ การลดความสำคัญแนวคิด DEI บางธุรกิจสนใจเฉพาะเดือน Pride Month ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือ ‘การตลาด’

ในช่วงปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ความหลากหลาย ความเท่าเทียม” ถูกพูดถึงและยอมรับมากขึ้นในทั่วโลก ทั้งในองค์กร โลกธุรกิจ จนเกิเป็นเทศกาล “Pride Month” ในเดือนมิ.ย.ของทุกปีกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รวมทั้งประเทศไทยเองก็มีกฎหมายรับรองการสมรสของกลุ่ม LGBTQIA+  หลังจากที่ผ่านร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

ทว่าในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โลกธุรกิจได้เผชิญกับปรากฏการณ์ที่น่าตกใจ เมื่อองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกประกาศถอนตัวจากความพยายามในการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม หรือ DEI แนวคิดความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง (Diversity, Equity, and Inclusion)  ที่ถูกนำมาใช้ในองค์กร

‘ความเท่าเทียม’ ถูกลดความสำคัญ

บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งของสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากประกาศตัดสินใจลดบทบาทของแนวคิด  DEI  ในแผนบริษัท นอกจากนี้ Revelio Labs เผยว่าจำนวนพนักงานในกลุ่ม DEI ลดลง 10% จากจุดสูงสุดในช่วงต้นปี 2565 

เมตา(Meta) และกูเกิล(Google) เป็น 2 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่เคยให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียม หลังจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่ทำให้เกิดการประท้วงที่ตามมา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังจะลดบทบาทของโครงการ DEI ลง

ส่วนค่ายมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson ได้ประกาศอย่างชัดเจนบนแพลตฟอร์ม X ว่าจะลดบทบาทในการดำเนินโครงการส่งเสริมความหลากหลาย โดยระบุว่าบริษัทได้หยุดตั้งเป้าหมายด้านความหลากหลายสำหรับซัพพลายเออร์และพนักงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 

การตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีกระแสต่อต้านโครงการ DEI ที่ถูกจุดชนวนโดย “ร็อบบี้ สตาร์บัคส์” นักเคลื่อนไหวฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้รณรงค์โจมตีบริษัทต่างๆ ที่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลาย

ทำให้บริษัทชั้นนำอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในโลก John Deere และผู้ค้าปลีกสินค้าสำหรับเกษตรกร Tractor Supply ก็ได้ประกาศยกเลิกโครงการความหลากหลายของตนเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าได้รับแรงกดดันจากแคมเปญต่อต้านของ Starbucks

นอกจากนี้ ฟอร์ด มอเตอร์, บริษัทค้าปลีก Lowe's ,ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของโลก Molson Coors Beverage และบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พรีเมียม Brown-Forman เจ้าของแบรนด์ Jack Daniel's ต่างทยอยประกาศลดหรือยกเลิกโครงการที่มุ่งเน้นส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ และวัฒนธรรมภายในองค์กร

บุคคลสำคัญในวงการธุรกิจเทคโนโลยีหลายคน อย่าง “อีลอน มัสก์” และ “อเล็กซานเดอร์ หว่อง” ผู้ก่อตั้งร่วมและซีอีโอของ Scale AI ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับแนวคิด DEI แต่สนับสนุนแนวคิดที่เรียกว่า "MEI" คือ คุณธรรม ความเป็นเลิศ และสติปัญญา

‘ความหลากหลาย’ ในองค์กรกำลังถูกมองข้าม ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือการตลาด

หลายบริษัทกำลังหันกลับไปโฟกัสที่ภาคส่วนการผลิตและจำหน่ายสินค้ามากขึ้น และลดความสำคัญกับแนวคิดความหลากหลายที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2563 ถ้าไม่นับรวมบริษัทที่ให้บริการลูกค้ากลุ่มอนุรักษ์นิยม กระแสความเท่าเทียมถูกมองข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการให้ความสำคัญเรื่อง DEI ในองค์กรในระยะยาว

‘ความหลากหลาย’ ในองค์กรกำลังถูกมองข้าม ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือการตลาด

ผลสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นขององค์กรต่อความหลากหลายในปี 2564 มีถึง 71% แต่ในปีที่ผ่านมาตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 60% 

 ‘ฟอกสีรุ้ง’ เป็นเครื่องมือการตลาด 

การลดทอนความสำคัญของ DEI ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของค่านิยม แต่ยังเป็นเรื่องของ “กลยุทธ์การตลาด” อีกด้วย เพราะตอนนี้คนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง การที่แบรนด์มองข้าม DEI ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า และอาจทำให้แบรนด์ดูล้าสมัยในสายตาของผู้บริโภคยุคใหม่ จนต้องเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (setsustainability) มองว่าสิ่งนี้เพิ่มความกังวลใจที่ว่า “ภาคธุรกิจ” อาจกำลังใช้ “กระแสสีรุ้ง” เป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่แบรนด์ของตนและดึงเม็ดเงินสีชมพูจากกลุ่ม LGBTQIA+  ซึ่งภาคธุรกิจบางส่วนอาจไม่มีนโยบายสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ ภายในองค์กรของตนอย่างชัดเจน หรือหลายแห่งยังมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของภาคธุรกิจถูกเรียกว่า ‘การฟอกสีรุ้ง’ (Rainbow Washing)

การเลือกแสดงออกว่าสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIA+ เฉพาะในเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ ของบริษัทหลายแห่งนั้น นอกจากอาจถูกกล่าวหาว่ากำลังฟอกสีรุ้งแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งการจ้างและการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทในระยะยาว 

จากการรายงานของสมาคมวิชาชีพด้านทรัพยากรบุคคล (Society for Human Resource Management: SHRM) ระบุว่า 44% ของผู้สมัครงานที่เป็น LGBTQIA+ รู้สึกว่าบริษัทพยายามจ้างงาน กลุ่ม LGBTQIA+ เพียงเพราะต้องการเติมเต็มโควตาการจ้างงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายภายในองค์กรเท่านั้น

อ้างอิง setsustainability worklife cultureamp  Bloomberg cmswire