นักวิเคราะห์มอง 'ลอบฆ่าทรัมป์รอบ 2' ไม่สะเทือนผลเลือกตั้งสหรัฐเท่ารอบแรก

นักวิเคราะห์มอง 'ลอบฆ่าทรัมป์รอบ 2' ไม่สะเทือนผลเลือกตั้งสหรัฐเท่ารอบแรก

นักวิเคราะห์มอง การลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตปธน.สหรัฐ และแคนดิเดตจากรีพับลิกันครั้งที่ 2 อาจไม่ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งสหรัฐเท่ารอบแรก

อัลจาซีราเผยว่า หลังจากเกิดการ ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และแคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

สองวันหลังจากทรัมป์รอดชีวิต เขาขึ้นเวทีปราศรัยประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันในรัฐวิสคอนซินอย่างผู้ชนะ การโจมตีครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ โดยผู้สนับสนุนทรัมป์ที่เข้าฟังปราศรัยต่างติดผ้าพันแผลที่หูเหมือนกับทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นหูของทรัมป์มีผ้าพันแผลปิดอยู่เพราะได้รับบาดเจ็บจากการถูกลอบยิง

นักวิเคราะห์ทางการเมืองบางส่วนมองว่า การลอบสังหารทรัมป์ ในเดือนก.ค. แทบจะรับประกันได้ว่าทรัมป์อาจชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งขณะนั้นคู่แข่งอย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคะแนนความนิยมตามหลังทรัมป์ หลังดีเบตในเดือนมิ.ย.ไปได้ไม่สวย

แต่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ไบเดนก็ถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตของพรรคเดโมแครต และ “คามาลา แฮร์ริส” รองปธน.สหรัฐ ก็ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตแทน ซึ่งจากโพลสำรวจส่วนใหญ่พบว่า แฮร์ริสได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น และทำให้โมเมนตัมของทรัมป์ลดน้อยลงไปโดยปริยาย

ลอบสังหารครั้งที่ 2 ไม่ฮือฮาเท่าครั้งแรก

รินา ชาห์ นักยุทธศาสตร์การเมือง คาดว่า การลอบสังหารครั้งที่ 2 ไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหมือนครั้งก่อน

“คราวนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจใดๆ เกิดขึ้น ทำอะไรไม่ได้ ผู้คนต่างเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ” ชาห์ กล่าว

ชาห์เผยว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลเล็กน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงพลวัตรการเลือกตั้ง โดยเธอชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ดราม่าทางการเมืองมากมาย ทั้งความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งของทรัมป์เมื่อปี 2563 และการที่ทรัมป์ถูกตัดสินคดีอาญา รวมถึงการถอนตัวจากการแข่งขันของไบเดน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงผิดหวังกับระบบการเมืองที่ถูกครอบงำโดยฐานเสียงของสองพรรคใหญ่ และกลุ่มผลประโยชน์พิเศษที่มีอิทธิพลมากเกินไป ชาห์จึงคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหลังเกิดเหตุการลอบสังหารทรัมป์ในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.)

“ผู้ที่เคยให้ความสนใจ ไม่ได้สนใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้สนใจ เพราะประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนของอเมริกาพังไปแล้ว” ชาห์กล่าว

เรื่องปกติ?

ด้านไมเคิล ฟอนทรอย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย การเมือง และการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน คาดว่า สถาบันทางการเมืองอาจไม่แสดงท่าทีสนใจมากนักหลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด

ฟอนทรอยชี้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนบทสรุปเชิงตรรกะของยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวร้าย ซึ่งทรัมป์ก็มีส่วนสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น ด้วยการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่อเค้ารุนแรงและอาวุธปืนก็เข้าถึงง่าย

“มันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความรุนแรงทางการเมืองของอเมริกาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครรู้สึกเซอร์ไพรส์กับเรื่องนั้น” ฟอนทรอยกล่าว และว่า บารัก โอบามา ก็เคยถูกคุกคามหลายต่อหลายครั้งตอนเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐ มากกว่าปธน.ก่อนหน้าเขาถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดดิสรัปชันในระหว่างหาเสียงช่วงฤดูร้อน แต่ผลสำรวจไม่นานมานี้ยังคงบ่งบอกว่า สองแคนดิเดตมีคะแนนสูสีกัน

โพลจากนิวยอร์กไทม์ส/เซียนาคอลเลจ ล่าสุด พบว่า ทรัมป์และแฮร์ริสมีเสียงสนับสนุนในรัฐสวิงสเตต ทั้งรัฐมิชิแกน, รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐจอร์เจีย รัฐนอร์ทแคโรไลนา และรัฐแอริโซนา ต่างกันเพียง 1% เท่านั้น

 

 

อ้างอิง: Al Jazeera