จับตาการเมืองสหรัฐรุนแรง ‘ความเสี่ยงต่ำแต่วางใจไม่ได้’

จับตาการเมืองสหรัฐรุนแรง  ‘ความเสี่ยงต่ำแต่วางใจไม่ได้’

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิก พยายามจับอารมณ์คนในชาติหลังเกิดเหตุพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พบว่าในบรรดาเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก สหรัฐน่าจะเป็นรองแค่ตุรกี และรัสเซียเท่านั้นที่เป็นไปได้มากที่สุดว่าปีหน้าการเมืองจะผันผวนรุนแรง

บลูมเบิร์ก อีโคโนมิก ปรับใช้ตัวแบบพัฒนาโดยหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ วัดความเสี่ยงการเกิดความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศพยายามหาตัวเลขกระแสความวิตกว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นมาอีกหลังการบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2021

ผลการวิเคราะห์พบว่าแม้โอกาสเกิดความไม่สงบของประชาชนอย่างเปิดเผยในปี 2025 ยังต่ำแค่ 2.9% เท่านั้น แต่สหรัฐก็ครองอันดับที่ 3 ในกลุ่มเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ความเสี่ยงในสหรัฐมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตยเหมือนกันอย่างแคนาดา เยอรมนี และออสเตรเลีย

อารมณ์การบุกรัฐสภายังแสดงให้เห็นในวัฒนธรรมป๊อปล่าสุด เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Civil War” ที่กล่าวถึงการล่มสลายของรัฐบาลสหรัฐ และได้รับความนิยมภายในไม่กี่วันหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ถูกลอบสังหารในเดือนก.ค.

ก่อนกระสุนเฉียดใบหูทรัมป์ไปเพียงไม่กี่วัน นักการเมืองก็มีส่วนเติมเชื้อไฟ ผู้นำเฮริเทจฟาวเดชัน (Heritage Foundation) มูลนิธิสายอนุรักษนิยม กล่าวว่า “การปฏิวัติอเมริกา ครั้งที่ 2” จะไม่นองเลือด “ถ้าฝ่ายซ้ายยอมให้เป็นเช่นนั้น” ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมาชิกวุฒิสภารัฐโอไฮโอคนหนึ่งกล่าวในการชุมนุมว่า “จะต้องเกิดสงครามกลางเมืองเพื่อรักษาประเทศ” ถ้าทรัมป์แพ้เลือกตั้ง ซึ่ง สว. คนนี้กล่าวขอโทษในภายหลัง

บทวิเคราะห์พบด้วยว่า การกัดกร่อนสถาบันประชาธิปไตย และความแตกแยกระหว่างกลุ่มที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ “เพิ่มความเสี่ยงเกิดความขัดแย้งในประเทศถึงขั้นใช้อาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

นิค ฮอลล์มาร์ก นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิก ระบุ “การทำนายถึงเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นอย่างความขัดแย้งภายในมักมีความไม่แน่นอนสูง แต่เราคิดว่าตัวแบบนี้เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ในการกำหนดกรอบการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ผลลัพธ์ยังไม่น่าสบายใจได้”

สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์กทำโพลร่วมกับมอร์นิงคอนซัลต์สำรวจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสวิงสเตต ผู้ให้ข้อมูลครึ่งหนึ่งคาดว่าจะเกิดความรุนแรงบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ตัวแบบของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกใช้ระเบียบวิธีสร้างโดยหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองมุ่งค้นหาปัจจัยที่ทำให้ประเทศเสี่ยงเกิดความขัดแย้งภายใน เน้นที่สองตัวแปร ตัวแปรแรกพิจารณาว่าประเทศหนึ่งๆ เป็นประชาธิปไตย เผด็จการ หรือกึ่งประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางเมื่อสถาบันทางการเมืองอ่อนแอปล่อยให้ความไม่พอใจก่อตัวขึ้นโดยไม่ได้รับการแก้ไข

บทวิเคราะห์ในปี 2020 ของPolity Score พบว่า สหรัฐเสี่ยงเป็นประเทศกึ่งประชาธิปไตย

 ตัวแปรที่ 2 วัดความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย (factionalism) ใช้ดัชนีรัฐเปราะบาง ดูความแตกต่างระหว่างกลุ่มทางสังคม, ภายในสถาบัน และการเมือง ซึ่งสหรัฐมีคะแนนใกล้เคียงกับอินโดนีเซียมากกว่าประเทศประชาธิปไตยรายได้สูงอย่างแคนาดา และญี่ปุ่น

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิก นิยามความขัดแย้งว่าหมายถึง ความขัดแย้งระหว่างตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐบาลสองตัว หรือระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐบาลกับที่ไม่ใช่รัฐบาล ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน ความรุนแรงทางการเมืองที่เข้าเกณฑ์นี้ เช่น การกบฏของกลุ่มแวกเนอร์ในรัสเซีย เมื่อเดือนมิ.ย.2023 และสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา ส่วนการจลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.นั้นไม่ใช่ตามนิยามนี้

มอนตี จี มาร์แชล ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพอย่างเป็นระบบ องค์กรวิจัยในโคโลราโด กล่าวว่าสหรัฐพร้อมเกิดความขัดแย้งจากระดับวาทกรรมทางการเมือง, ผู้นำการเมืองขาดความเคารพกัน และอาวุธปืนหาได้ง่าย ทั้งหมดได้แรงหนุนจากการเชื่อมต่อสื่อสารที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

“โดยทั่วไปสิ่งที่เราเห็นในสงครามกลางเมืองมักเริ่มต้นจากการก่อเหตุระดับเล็กๆ บุคคลกระทำการเพียงลำพัง ด้วยการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้สามารถขยายวงได้อย่างรวดเร็ว” มาร์แชล์ ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) กล่าวและว่าในสหรัฐ “ความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธต่อต้านรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเกิดขึ้นนานมากแล้ว ผมจึงคิดว่าผู้คนคงนึกภาพไม่ออก แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณพยายามนึกภาพอะไรด้วย”

สหรัฐนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดอย่างที่ประเทศไร้เสถียรภาพหลายประเทศต้องเผชิญ เช่น อัตราดอกเบี้ยสูง การลงทุนลด เศรษฐกิจเติบโตลด แต่ “หากสถาบันเสื่อมถอยต่อไป และความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้นเมื่อนั้นต่อให้เศรษฐกิจสหรัฐดี ดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำ หรือแม้แต่สถานะสกุลเงินสำรองของดอลลาร์ก็ไม่อาจช่วยอะไรได้” ฮอลล์มาร์ก ระบุในรายงาน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์