‘ตลาดอิรัก’โอกาสเอสเอ็มอีไทย เร่งสร้างแบรนด์-หาจุดเด่น

‘ตลาดอิรัก’โอกาสเอสเอ็มอีไทย  เร่งสร้างแบรนด์-หาจุดเด่น

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงมานาน ด้วยวิสัยทัศน์ "ผู้ขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยสู่ความเป็นผู้นำด้านคุณภาพฮาลาลในระดับสากล" และหนึ่งในพันธกิจคือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย

World Pulse  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศวฮ. ไกลถึงประเทศอิรัก ในโอกาสที่กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดนซึ่งดูแลครอบคลุมถึงอิรัก   นำคณะผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไปสำรวจตลาดและจับคู่เจรจาธุรกิจที่กรุงแบกแดดและนครเออร์บิล  ภาพของตลาดอิรักในมุมมองของผู้ก่อตั้ง ศวฮ. ย่อมน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟัง

แม้เดินทางไปตะวันออกกลางมาหลายประเทศ แต่ รศ.ดร.วินัยไม่เคยไปอิรัก ภาพในใจนักวิชาการรายนี้คือ อิรักเป็นชนชาติที่เจริญ แต่ยากจนมาตลอดหลังจากถูกปกครองโดยออตโตมันเติร์ก และเป็นดินแดนภายใต้การดูแลของอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นเจอสงครามเป็นสิบครั้ง ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างซุนนีย์-ชีอะห์ ทำสงครามกับอิหร่านแปดปีถือว่านานมาก  ‘ตลาดอิรัก’โอกาสเอสเอ็มอีไทย  เร่งสร้างแบรนด์-หาจุดเด่น

หลังบุกคูเวต อิรักต้องทำสงครามกับสหรัฐทำให้ประเทศเสียหายและยากจนมาก ต่อมาเกิด สงครามอ่าวครั้งที่ 2 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ทำให้ซัดดัม ฮุสเซน ตกจากอำนาจ 

“เกิดความวุ่นวายมาตลอดจนไม่คิดว่าจะฟื้นตัวได้ เพราะฉะนั้นภาพของอิรักก่อนมาคือสังคมขาดวิ่นไปหมด ตอนนี้เขาหมดสงครามไปเป็นสิบปีแล้วก็คิดว่าน่าจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีความวุ่นวายอยู่ตลอด” นี่คือภาพจำของอิรักจากมุมมองของ ผอ.ศวฮ. 

"พอมาแล้วก็เห็นว่าสังคมเขากำลังฟื้น โดยเฉพาะที่แบกแดด ซากความเสียหายยังอยู่แต่เศรษฐกิจเขากำลังเริ่มฟื้น เริ่มมีความทันสมัยคละเคล้ากันไป พัฒนาไปได้ระดับหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เห็นจากแบกแดด"

ส่วนที่เออร์บิล เมืองเอกของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน รศ.ดร.วินัยมองว่า ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งอิรักก็น่าจะมีซากความเสียหายจากความขัดแย้ง 

“แต่พอมาจริงๆ มันไม่ใช่ ผมมีโอกาสไปกับท่านทูตเข้าไปถึงเมืองสุไลมานีถึงทำเนียบนายกรัฐมนตรี เห็นบ้านเมืองเขาก็รู้เลยว่าเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เห็นซากความเสียหาย ไม่มีสงคราม บ้านเมืองเหมือนยุโรป เหมือนเป็นสองประเทศที่ซ้อนกันอยู่ระหว่างเคอร์ดิสถานกับอิรัก แต่เออร์บิลดีกว่าแบกแดดเยอะ” 

เมื่อได้มาเห็นเมืองใหญ่ทั้งสองของอิรัก รศ.ดร.วินัย แนะนำภาคเอกชนไทยที่ต้องการเจาะตลาดอิรักว่า  อิรักมีประชากร 40-50 ล้านคน ส่วนเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานประชากรน้อยประมาณ 6.6 ล้านคน ถ้าจะมาทำธุรกิจควรมองทั้งประเทศ ถ้าธุรกิจรายใดมักน้อยอยากเจาะแค่เคอร์ดิสถานอย่างเดียวมาที่เออร์บิลก็จะได้ประโยชน์ เพราะสังคมที่นี่จัดระเบียบใหม่ ทำการค้าตรงไปตรงมาได้มากกว่า 

“แต่ในความเห็นผมไหนๆ เข้ามาที่อิรักแล้วก็อยากให้ต่อมาที่เออร์บิลด้วย”  

เนื่องจากคณะผู้ประกอบการที่มาสำรวจตลาดอิรักส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี จึงสอดคล้องกับกิจกรรมของ ศวฮ.เรื่องการพัฒนาเอสเอ็มอี ผอ.ศวฮ. มองว่าประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางนานเกินไป หลุดออกมายาก ปัญหาใหญ่อยู่ที่ประชากร จึงแนะนำว่า ไทยต้องปรับวิธีคิดของประชากรให้ได้  ‘ตลาดอิรัก’โอกาสเอสเอ็มอีไทย  เร่งสร้างแบรนด์-หาจุดเด่น

“ถ้าเราอยากก้าวขึ้นไปข้างบนเราต้องทำให้คนตัวเล็กเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ก็คือเรื่องเอสเอ็มอี” 

อีกด้านหนึ่งคือนวัตกรรม ไทยต้องสอนให้เอสเอ็มอีเป็นนวัตกรพัฒนาโปรดัค ไม่ใช่รับจ้างผลิตตลอดเวลาหรือแค่ซื้อมาขายไป  ‘ตลาดอิรัก’โอกาสเอสเอ็มอีไทย  เร่งสร้างแบรนด์-หาจุดเด่น

“แต่เขาต้องเป็นนวัตกรด้วยธุรกิจของเขาเอง พวกเราที่มา (อิรัก) จะเห็นได้ว่ามีความเป็นนวัตกรในตัวเองอยู่ โปรดัคของพวกเราขาดอย่างเดียวคือแบรนดิง  มีแบรนด์แต่ไม่เป็นที่รู้จัก ก็ต้องพยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมาให้ได้”

 ผอ.ศวฮ.กล่าวถึงเอสเอ็มอีร่วมคณะเยือนอิรักที่มีทั้งธุรกิจก่อสร้าง อุปกรณ์ภายในบ้าน อาหารแปรรูป เครื่องสำอางและการดูแลสุขภาพ ซึ่งตลาดเล็กๆ อย่างอิรักจะเป็นเวทีที่ดีสำหรับเอสเอ็มอีไทย โดย ศวฮ.สอนให้เอสเอ็มอีกกล้า มองตลาดในภาพใหญ่ และหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์

"ทุกโปรดัคถ้าขายในบ้านเราได้ก็ขายที่นี่ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอาหาร ที่สำคัญคือที่นี่ภาพของเรายังค่อนข้างเป็นบวก และฝ่ายการเมืองต้องเข้าใจความเซนสิทีฟของกระบวนการค้าต่างประเทศ เพื่อจะเป็นลมใต้ปีกให้กับเอสเอ็มอีของเรา" รศ.ดร.วินัยกล่าวทิ้งท้ายไปถึงผู้กำหนดนโยบายที่ต้องเดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวไกลในเวทีโลก