'มาริษ' ขึ้นเวทียูเอ็นประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต

'มาริษ' ขึ้นเวทียูเอ็นประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต

‘มาริษ‘ กล่าวถ้อยแถลงประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต ย้ำจุดยืนไทยสนับสนุนกระบวนการจัดทำ Pact for the Future สะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคม มุ่งคำนึงประเทศกำลังพัฒนา เอาชนะอาชญากรรมข้ามชาติ ชูบทบาทเยาวชนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ยกเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงของไทย ในการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคต (Summit of the Future) หัวข้อ “Multilateral Solutions for a Better Tomorrow”  ว่า  ทุกคนจะได้รับการปกป้องและมีความเจริญรุ่งเรือง ผ่านความมุ่งมั่นทางการเมืองเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกไปด้วยกัน โดยได้เน้นประเด็นต่าง ๆ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การต่อต้านยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติและไซเบอร์ การปฏิรูปสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้สถาปัตยกรรมโลกสะท้อนผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมพลังของเยาวชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอนาคตที่ต้องการ

ทั้งนี้ การประชุมได้รับรองคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาว่าด้วยอนุชนรุ่นหลัง (Declaration on Future Generations) และคำมั่นด้านดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Compact) ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้กระบวนการจัดทำ Pact for the Future สะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมให้ความเห็นต่อการยกร่างเอการดังกล่าว พร้อมหวังว่าเอกสารจะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลก และให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในปีนี้ ไทยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสหประชาชาติและ Summit of the Future ให้กับสาธารณชนด้วย

การประชุม Summit of the Future มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเร่งรัดการดำเนินการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกำหนดประเด็นสำคัญและทิศทางการดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง และรักษาให้สหประชาชาติยังคงมีบทบาทและความหมาย (relevance) ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อความต้องการของรัฐสมาชิก