ลาแล้ว ‘อังกฤษ’ เศรษฐีลอนดอนเกือบหมื่นแห่ย้ายประเทศ หลังรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม

ลาแล้ว ‘อังกฤษ’ เศรษฐีลอนดอนเกือบหมื่นแห่ย้ายประเทศ หลังรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม

ลาแล้ว ‘อังกฤษ’ เศรษฐีลอนดอนเกือบหมื่นคนแห่ย้ายประเทศ มุ่งหน้า 'สวิตเซอร์แลนด์-อิตาลี' หลังรัฐบาลจ่อเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม หวั่นกระทบเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูของประเทศ

สถานการณ์ที่น่าจับตามองกำลังเกิดขึ้นในวงการเศรษฐกิจของ “อังกฤษ” ที่มีเหล่า “เศรษฐีลอนดอน” ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปกว่า 3 คน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ต่างกำลังวางแผนหรือดำเนินการย้ายออกจากประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายภาษีที่เข้มงวดขึ้นและยกเลิกสถานะ non-dom รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดช่องโหว่ทางภาษีของพรรคแรงงาน

ตามข้อมูลของ Henley & Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐานสำหรับคนร่ำรวย สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับการสูญเสียเศรษฐีจำนวนกว่า  9,500 คนในปีนี้ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว

ลาแล้ว ‘อังกฤษ’ เศรษฐีลอนดอนเกือบหมื่นแห่ย้ายประเทศ หลังรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม

จากการสัมภาษณ์ที่ปรึกษาทางการเงินกว่า 30 คนและเหล่ามหาเศรษฐี พบว่าหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจและทรัพย์สินในอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ บาสซิม ไฮดาร์ ผู้ประกอบการชาวไนจีเรีย-เลบานอนซึ่งกำลังจะย้ายไปกรีซกล่าวว่า "ตอนนี้ลอนดอนกำลังสูญเสียทั้งบุคลากรและความมั่งคั่ง"

นอกจากนี้ Alan Howard กองทุนเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษกำลังพิจารณาที่จะย้ายจากลอนดอนไปเจนีวา หรือ Jeremy Coller บริษัทแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจด้าน private equity ในอังกฤษ ก็ได้ย้ายออกไปสวิตเซอร์แลนด์แล้ว

 

มุ่งหน้าสู่ 'สวิตเซอร์แลนด์-อิตาลี'

หลายประเทศกำลังฉวยโอกาสนี้ในการดึงดูดนักลงทุนที่มั่งคั่ง โดยสวิตเซอร์แลนด์ โมนาโก อิตาลี กรีซ มอลตา ดูไบ และหมู่เกาะบาฮามาส กำลังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการย้ายถิ่นฐานของมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ

ขณะนี้มีเศรษฐี บริษัทและผู้จัดการกองทุนหลายแห่งได้ถอนตัวออกจากอังกฤษและมุ่งหน้าสู่ “ซูริก” ในสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้ง “มิลาน” ในอิตาลีเองที่พยายามออกนโยบายดึงดูดผู้อพยพจากลอนดอน

อิตาลีอนุญาตให้ผู้อพยพที่มีฐานะร่ำรวยจ่ายเงินก้อนหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากรายได้และรายรับจากต่างประเทศได้นานถึง 15 ปี แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ค่าธรรมเนียมรายปีได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 1 แสนยูโร เป็น 2 แสนยูโรแล้วก็ตาม

จ่อเก็บภาษี 'คนรวย' เพิ่ม

คนรวยระดับปกติขึ้นไปถึงระดับมหาเศรษฐีต่างวางแผนออกนอกประเทศแทนที่จะจ่ายภาษีเพิ่มนั้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่ารายได้ของรัฐบาลอังกฤษในการจัดเก็บภาษีจะต้อง “ขาดทุน”

"เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์" จากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้คำมั่นสัญญาที่จะกระจายความมั่งคั่งและฟื้นฟูบริการสาธารณะ หลังจาก 14 ปีของการปกครองโดยพรรคอนุรักษ์นิยม 

ตอนนี้ เศรษฐีลอนดอนเผชิญความไม่แน่นอนจาก 3 นโยบายหลักๆ คือ

  • แผนการเก็บภาษีมรดก 40% สำหรับทรัพย์สินที่อยู่นอกประเทศ
  • ปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับ carried interest ส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนได้รับเป็นค่าตอบแทน จาก 28% เป็นสูงถึง 45% จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของผู้จัดการกองทุน และอาจทำให้การลงทุนในสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ยกเลิกระบบภาษี non-dom ที่อนุญาตให้ผู้ที่อาศัยในสหราชอาณาจักรแต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจากรายได้และผลกำไรจากทุนในต่างประเทศได้นานถึง 15 ปี โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธินี้ราว 74,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 68,900 คนในปีก่อนหน้า

Rachel Reeves รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงาของพรรคแรงงาน คาดการณ์ว่าการยกเลิกโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้รัฐถึง 2.6 พันล้านปอนด์ (ราว 116,000 ล้านบาท) ตลอดช่วงรัฐบาลถัดไป 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ Oxford Economics กลับชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 1 พันล้านปอนด์ (ราว 44,600 ล้านบาท) ภายในปี 2029/30

ลาแล้ว ‘อังกฤษ’ เศรษฐีลอนดอนเกือบหมื่นแห่ย้ายประเทศ หลังรัฐเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม

หากแนวโน้มการย้ายออกของกลุ่มคนรวยยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และบริการชั้นสูง นอกจากนี้ รัฐบาลยังอาจสูญเสียรายได้ภาษีจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของจำนวนผู้เสียภาษีรายใหญ่

Helena Moyas de Forton จาก Christie's International Real Estate กล่าวว่า "นักลงทุนที่มั่งคั่งมีตัวเลือกมากมายตอนนี้ และมีหลายประเทศที่กำลังแย่งชิงพวกเขา" เธอมองว่าแผนของพรรคแรงงานเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยล่าสุดที่สั่นคลอนชื่อเสียงของสหราชอาณาจักรในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

ผลกระทบเริ่มส่งถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูของลอนดอนแล้ว โดย Knight Frank รายงานว่าธุรกรรมในตลาดที่อยู่อาศัยระดับซูเปอร์ไพรม์ (มูลค่า 10 ล้านปอนด์ขึ้นไป) ลดลง 22% ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 30 ล้านปอนด์ ซึ่งมีการขายเพียง 10 รายการ เทียบกับ 38 รายการในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ อังกฤษไม่ใช่ประเทศเดียวที่กลุ่มมหาเศรษฐีตัดสินใจย้ายออกจากประเทศ ตามรายงานของ Henley & Partners พบว่า “จีน” มีเศรษฐีกว่า 15,200 คน อพยบย้ายออกจากประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายไปยังสหรัฐ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่

อ้างอิง Bloomberg