รู้จัก ‘สายมู’เบลเยียม ท่องสำนักไล่ปีศาจแห่งบรัสเซลส์
แม้เทคโนโลยีก้าวไกลถึงขึ้นมีเอไอคิดแทนมนุษย์ แต่เรื่องของจิตใจบางครั้งต้องแก้ไขด้วยความเชื่อ ด้วยเหตุนี้การไล่ปีศาจจึงยังมีให้เห็น
เทียร์รี โมเซอร์ ผู้เป็นทั้งนักบวชคาทอลิกและหมอผีมีพันธกิจสองอย่าง นั่นคือการบรรเทาความทุกข์ของผู้คนผ่านการสวดภาวนา และท้าทายความคิดคร่ำครึเรื่องวิธีการปฏิบัติที่เขามองว่า เป็นคำตอบของความเจ็บป่วยยุคใหม่
เดิมทีโมเซอร์ผ่านการฝึกอบรมด้านจิตวิทยาคลินิกได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทหลวงในปี 2009 ประกอบพิธีในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ซึ่งแต่ละปีต้องทำพิธีปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้ศรัทธาราว 200 คน และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
โมเซอร์ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวเอเอฟพีในวาระที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนเบลเยียมว่า สิ่งที่ผู้ศรัทธามีเหมือนกันคือ “ทุกคนรู้สึกว่าถูกโจมตีจากปีศาจร้าย และพยายามหาทางปลดปล่อย”
น่าสังเกตว่าความสนใจปัดเป่าไล่ปีศาจฟื้นกลับมาช่วงไม่กี่สิบปีหลัง ในปี 2014 หรือหนึ่งปีหลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับเลือกตั้งเป็นประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิก สำนักวาติกันยอมรับสมาคมนักขับไล่ปีศาจนานาชาติอย่างเป็นทางการ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นี่เท่ากับเป็นพรจากสมเด็จพระสันตะปาปา
ถึงวันนี้การไล่ปีศาจได้ลงหลักปักฐานเป็นอย่างดีในเบลเยียม บิช็อปของทั้งแปดสังฆมณฑลทั่วประเทศต่างมอบหมายให้บาทหลวงหนึ่งคนทำหน้าที่ไล่ภูตผี
อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวเลขโดยรวมถึงจำนวนประชากรทั้งประเทศเบลเยียมที่ใช้บริการพิธีกรรมนี้ แต่ตามคำบอกเล่าของคริสทอฟ สเมเยอร์ส ผู้วิจัยประวัติศาสตร์เวทมนต์ วิทยาศาสตร์ และศาสนาจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกในเมืองเลอเฟิน พบว่า สำนักสงฆ์ Averbode ของชาวเฟลนเดอร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเบลเยียม กำลังกลายเป็นศูนย์กลางในด้านนี้ แต่ละปีมีคนร้องขอทำพิธีกว่า 1,000 ครั้ง
โมเซอร์กล่าวว่า ผู้คนจากทุกช่วงวัยมาขอความช่วยเหลือจากเขา บางคนเป็นคาทอลิกแต่อีกหลายคนก็ไม่ใช่
โมเซอร์ต้อนรับพวกเขาในสถานที่ที่หน่วยงานศาสนาจัดไว้ให้ในมาโรลเลส ย่านชนชั้นแรงงานของกรุงบรัสเซลส์ พร้อมด้วยทีมงานห้าคนจาก “กระทรวงไล่ผี” ของเขาที่ก่อตั้งขึ้นด้วยการอำนวยพรจากหน่วยเหนือแห่งศาสนจักรคาทอลิก
“การทำหน้าที่ประการแรกของเราคือต้อนรับประชาชนโดยปราศจากการตัดสิน ปีศาจในตัวพวกเขามีหลากหลายรูปแบบ” โมเซอร์กล่าว
หลายคนกำลังเผชิญอุปสรรคทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือการทำงาน จำนวนมากเกิดความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ฝันร้าย หรือมีอาการทางกายตั้งแต่ความเจ็บปวดที่ไม่ทราบสาเหตุไปจนถึงอาการหูอื้อ
“ผมรู้สึกเหมือนเราเป็นโรงพยาบาลสนามของคริสตจักร เราเห็นผู้คนกำลังรับมือกับความท้าทายทางจิตวิญญาณอันแสนสาหัส รับมือกับสิ่งยั่วยุ และเราพยายามเยียวยาพวกเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” ฌาค เบคแคนด์กล่าว เขาเป็นผู้ช่วยศาสนาจารย์ได้รับการฝึกอบรมให้ทำพิธีไล่ผีในเมืองลียงของฝรั่งเศสและเข้าร่วมทีมของโมเซอร์เมื่อปีที่แล้ว
- ไม่ใช่นักมายากล
ตามพระคัมภีร์ พระเยซูคริสต์และสาวกเคยใช้พิธีไล่ปีศาจตั้งแต่ยุคแรกของศาสนาคริสต์ แล้วหายไปในช่วงศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งหลังภาพยนตร์ “The Exorcist” ของวิลเลียม ฟรีดกิน ออกฉายทำรายได้ถล่มทลายในปี 1973
“ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ลงโรง ความต้องการไล่ปีศาจ หรือรู้สึกว่าถูกผีสิง หรือคิดว่าคนในครอบครัวถูกผีสิง เพิ่มขึ้นทันที” สเมเยอร์สกล่าวและว่าปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้การขับไล่ปีศาจกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980 คือการเผยแพร่ศาสนาทางโทรทัศน์ในสหรัฐ มีการแสดงการขับไล่ปีศาจที่น่าตื่นตาตื่นใจต่อสาธารณะโดยนักบวชจากนิกายโปรเตสแตนต์ต่างๆ
“ศาสนจักรคาทอลิกรู้สึกถึงแรงกดดันเล็กๆ จากขบวนการอีแวนเจอลิก” ด้วยความคิดของขบวนการที่ว่า “คุณสามารถหลุดพ้นจากความชั่วร้ายได้ถ้าคุณรู้สึกว่าใช้ชีวิตเต็มไปด้วยบาป” สเมเยอร์ส์อธิบาย
ทั้งนี้ การทำงานในทีมของโมเซอร์ที่บรัสเซลส์ พิธีไล่ปีศาจกระทำการเป็นขั้นเป็นตอนเริ่มจากผู้ประกอบพิธีสองคนอธิษฐานเตรียมการ และสวดต่อเนื่องโดยผู้ขอความช่วยเหลือมาร่วมสวดด้วย
หัวใจสำคัญของพิธีอยู่ที่การอ่านคาถาขับไล่ปีศาจอย่างขรึมขลังอ่านได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาตจากหน่วยเหนือของคาทอลิกเท่านั้น
“เราไม่ใช่นักมายากล เราไม่ได้มีเคล็ดลับหรือสูตรมหัศจรรย์ แต่สิ่งที่เราทำคือนำผู้คนกลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับพระเจ้า” เบคแคนด์ หนึ่งในทีมงานไล่ปีศาจอันเลื่องลือยืนยันถึงหลักการทำงาน