สงครามในตะวันออกกลางและผลต่อเศรษฐกิจโลก
ล่าสุดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทวีความรุนแรงถึงขั้นอิสราเอลส่งกองกําลังเข้ายึดตอนใต้ของเลบานอนเพื่อโจมตีฐานที่มั่นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และอิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธระยะไกลใส่อิสราเอล เป็นสถานการณ์ที่ทั้งโลกห่วงว่าอาจขยายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาค
ซึ่งถ้าเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก วันนี้จึงขอประเมินเรื่องนี้ว่าสงครามในตะวันออกกลางถ้าเกิดขึ้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
วันนี้ 7 ตุลาคม ครบหนึ่งปีพอดีตั้งแต่กลุ่มฮามาสส่งกองกําลังเข้าโจมตีพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว
เป็นการโจมตีที่อิสราเอลคาดไม่ถึง นำไปสู่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ตามด้วยสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
การยิงขีปนาวุธใส่กันระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล และล่าสุดการเข้ายึดภาคใต้ของเลบานอนโดยกองกําลังภาคพื้นดินของอิสราเอล เป็นการสู้รบที่ต่อเนื่อง รุนแรงและขยายวงมากขึ้นเป็นลําดับ
มีการวิเคราะห์ว่าการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสปีที่แล้ว ทําให้รัฐบาลอิสราเอลเสียเครดิตพอควรในเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนของตน จึงมุ่งแก้สถานการณ์ในทุกรูปแบบเพื่อเรียกความมั่นใจคืนมา
ผลคือความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ขยายไปหลายพื้นที่ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แม้ความเสียหายทั้งต่อชีวิตทรัพย์สินจะมีมาก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลาย
คงจําได้ว่า เมื่อความขัดแย้งเริ่มใหม่ๆ ตุลาคมปีที่แล้ว มีการวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งอาจพัฒนาได้เป็นสามระดับ
ระดับแรก คือ ความขัดแย้งหรือการสู้รบจํากัดอยู่เฉพาะระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
ระดับสอง คือความขัดแย้งขยายวงเป็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่เป็นปริปักษ์กับอิสราเอล เช่น ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
ระดับสาม คือการสู้รบพัฒนาเป็นสงครามในภูมิภาคที่มีประเทศใหญ่ในภูมิภาคเข้าร่วม เช่น อิหร่าน
การวิเคราะห์ขณะนั้นส่วนใหญ่มองว่าความขัดแย้งไม่น่าจะไม่เกินระดับสอง เพราะคงมีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันสถานการณ์และความรุนแรงได้เลยไปไกลจนความขัดแย้งระดับสามเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือสงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาค
ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ผลต่อเสถียรภาพการเมืองในตะวันออกกลางและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก
ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ถ้าสงครามเกิดขึ้น พิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีต ผลกระทบน่าจะเกิดในสามช่องทาง คือ ราคานํ้ามัน อัตราเงินเฟ้อ และความเชื่อมั่นโดยเฉพาะถ้าสงครามลากยาวและรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลของสงคราม
สำหรับช่องทางแรก ราคานํ้ามัน ซึ่งเป็นช่องทางผลกระทบสำคัญตั้งแต่ในอดีต เพราะเมื่อห้าสิบปีก่อน สงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรียในปี 1973 ได้นําโลกสู่วิกฤตการณ์นํ้ามันครั้งแรก
เมื่อกลุ่มโอเปคขณะนั้นควํ่าบาตรการส่งออกนํ้ามันให้กับประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลในการทําสงครามทําให้ราคานํ้ามันพุ่งสูงขึ้นกว่า 300 เปอร์เซนต์และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก นี่คือสถานการณ์ที่ตอกยํ้าถึงความสำคัญของราคานํ้ามันในเศรษฐกิจโลก
คราวนี้ก็เช่นกัน ภาวะสงครามถ้าเกิดขึ้นจะกดดันให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ห้าสิบปีที่ผ่านมาหลายอย่างได้เปลี่ยนไปทำให้ช็อคที่มาจากดิสรัปชันในการผลิตหรือส่งออกนํ้ามันจะไม่ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนในอดีต
เห็นได้จาก ช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ราคานํ้ามันปรับขึ้นสูงสุดที่ 123 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลก่อนปรับลง และช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหลังฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอลถึงปัจจุบัน ราคานํ้ามันก็มีค่ากลางอยู่ที่ประมาณ 82 ดอลลาร์ต่อบาเรล
ปัจจัยหลักที่ทําให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็คือโครงสร้างการผลิตและใช้พลังงานในโลกที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันนํ้ามันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 33 ในพลังงานทั้งหมดที่โลกใช้ และเพียงร้อยละ 31.5 ของนํ้ามันดิบที่โลกใช้มาจากตะวันกลาง นี่คือปัจจัยที่จะลดทอนผลกระทบของสงครามต่อราคานํ้ามัน
ปัจจุบัน นักวิเคราะห์ประเมินว่าถ้าสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางไม่ขยายไปสู่การปิดล้อมช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางการส่งนํ้ามันจากตะวันออกกลางสู่ตลาดโลก ราคาน้ำมันอาจยืนระยะได้ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาเรลบวกลบแม้สงครามเกิดขึ้น
เพราะปัจจุบันตลาดน้ำมันมีตัวช่วยหลายตัวที่จะรักษาให้ราคานํ้ามันมีเสถียรภาพ เช่น กําลังการผลิตส่วนเกินที่มีในหลายประเทศที่สามารถเพิ่มการผลิตได้ถ้าต้องการ
นอกจากนี้ ความต้องการใช้นํ้ามันในประเทศหลักอย่างจีนและสหรัฐก็ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีการปิดล้อมช่องแคบฮอร์มุซ ราคานํ้ามันอาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่คงเป็นระยะสั้นเพราะกําลังการผลิตส่วนเกินที่มี
ดังนั้น ราคานํ้ามันในตลาดโลกคงปรับสูงขึ้นถ้าสงครามปะทุขึ้น แต่อาจไม่รุนแรงอย่างในอดีต ทําให้ประเทศส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวได้
ช่องทางที่สอง คือเงินเฟ้อ เพราะสงครามทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องปรับตัว ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะมาจาก ราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ ค่าขนส่ง ราคาวัตถุดิบ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะแพงขึ้น ทําให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบค่าครองชีพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระทบการตัดสินใจของธนาคารกลางที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ตลาดคาดว่าการลดดอกเบี้ยจะมีต่อเนื่องเพราะเป็นวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง
ดังนั้น ถ้าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากภาวะสงครามมีมาก จนอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถลดลงได้ เศรษฐกิจโลกก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation คือเงินเฟ้อสูงเพราะผลของสงครามและเศรษฐกิจชะลอมากเพราะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยยืนในระดับสูง ลงไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อสูง นี่คือฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้น
ช่องทางที่สาม คือ ความเชื่อมั่น ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ขณะนี้มองโลกในแง่ดีว่า เศรษฐกิจโลกจากนี้ไป โดยเฉพาะสหรัฐและจีน จะฟื้นตัวได้มากขึ้น กระตุ้นโดยอัตราดอกเบี้ยโลกที่จะเป็นขาลง นําไปสู่การปรับขึ้นของราคาสินทรัพย์ที่จะยิ่งช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัว
และมองว่าเศรษฐกิจโลกมีความเข้มแข็งพอที่จะทัดทานช็อคหรือผลกระทบที่มาจากสงครามในตะวันออกกลาง มากสุดที่จะเกิดขึ้นคือการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลง
เพื่อสะท้อนเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความเสียหายต่อเศรษฐกิจในประเทศคู่กรณีจากผลของสงคราม รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจชะลอเป็นครั้งคราวเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ เป็นความเชื่อมั่นด้านบวก ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะไปได้ต่อ และไม่ได้มองสงครามเป็นความเสี่ยงรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม สําหรับผม นักลงทุนคงต้องตระหนักถึงเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเสมอที่อาจเกิดขึ้น ที่สถานการณ์สงครามอาจยืดเยื้อและรุนแรงเกินความคาดหมายจนสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนำเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลของสงคราม นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนักเช่นกันแม้เราจะให้คําตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร
นี่คือภาพเศรษฐกิจโลกและผลกระทบของสงครามที่ผมประเมินขณะนี้
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล