สมรภูมิตะวันออกกลางเดือด สะเทือนตลาดยุทธศาสตร์ “ส่งออกไทย”
สงครามอิหร่าน –อิสราเอล ปะทุ “ไทย”หนีไม่พ้นโดนลูกหลง หวั่นปิด “ช่องแคบฮอร์มุช” ดันราคาน้ำมันพุ่งฉุดไม่อยู่ -ส่งออกไทยไปตะวันออกกลางชะงัก
KEY
POINTS
Key Point
- ปี 66 การค้าไทยและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 11,167 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.6%
- ตลาดตะวันออกกลาง เป็นตลาดยุทธศาสตร์ไทย
- ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่ วันละ 21 ล้านบาร์เรลหรือคิดเป็น 21 % ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลก
วิกฤตความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปะทุขึ้นใหม่อีกครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่ออิหร่านเข้าสู่สมรภูมิสงคราม ด้วยการเปิดฉากยิงขีปนาวุธหลายร้อยลูกเข้าใส่อิสราเอลเพื่อตอบโต้อิสราเอลเพื่อตอบโต้ต่อการสังหารประชาชนในฉนวนกาซา รวมทั้งผู้นำของกลุ่มฮามาส และฮิซบอลเลาะห์
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลไปทั่วโลกเพราะยังมีการข่มขู่กันไปมาจนเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้สงครามในตะวันออกกลางยืดเยื้อและบานปลายออกไป นั่นก็จะส่งผลต่อการค้าโลก และเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งราคาน้ำมันและการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมันตลาดโลก ที่อาจพุ่งทะยานแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหมือนเช่นกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนผลกระทบด้านการขนส่งก็จะทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
แม้ว่าประเทศไทยเราแม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งในครั้งนี้ แต่สงครามดังกล่าวก็สะเทือนไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ส่งออกไทย” ไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่ 2.8 % ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการนำเข้าคิดเป็น 10.7% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ซึ่งประเทศคู่ค้าหลักของไทยเช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ จอร์แดน เป็นต้น
“ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แสดงความกังวลว่า ความรุนแรงรอบใหม่ในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลาง เพราะถือเป็น “ตลาดยุทธศาสตร์”ของไทย ที่ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปยังตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยจุดเสี่ยงสำคัญที่สุดของ “เศรษฐกิจการค้าโลก” อยู่ที่บริเวณพื้นที่ยุทธศาสตร์ คือ “ช่องแคบฮอร์มุซ” เป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งน้ำมันโลกจากประเทศในอ่าวเปอร์เซีย หากมีการปิด“ช่องแคบฮอร์มุซ” แน่นอนว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งแบบฉุดไม่อยู่ กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ซึ่งไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันก็ได้รับผลกระทบแน่นอนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์สงครามตะวันออกกลางน่าเป็นห่วงจึงต้องติดตามใกล้ชิด
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ “ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่มีการขนส่งน้ำมันวันละ 21 ล้านบาร์เรลหรือคิดเป็น 21 % ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน และยังเป็นเส้นทางเดินเรือส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลาง
การปิดช่องแคบฮอร์มุซ ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมาก เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง เมื่อปี 2566 ไทยนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง สัดส่วนประมาณ 50 % ของการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งหมด
หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด อุปทานน้ำมันดิบกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศจะประสบปัญหาการขนส่ง เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันพุ่งสูง กระทบการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ
ด้านการส่งออก “ช่องแคบฮอร์มุซ ”เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าไทยเข้าสู่ประเทศตะวันออกกลาง โดยส่วนใหญ่สินค้าไทยจะขนส่งผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซเพื่อเข้าสู่ท่าเรือในเมือง Jebel Ali ของสหรัฐอาหรับเอมริเรตส์
สำหรับการค้าของไทยกับตะวันออกกลาง ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 15 ประเทศ ในปี 2566 มูลค่า 11,167 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการเติบโตขยายตัว 1.6% เทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน 28.9% ซาอุดีอาระเบีย 23.9% ตุรกี 13.8% อิรัก 8.0% อิสราเอล 6.9% โอมาน 3.9% คูเวต 3.7% กาตาร์ 2.9% เยเมน 2.02% จอร์แดน 2.0%
ไทยส่งออกสินค้าสำคัญ 10 รายการแรกได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปลากระป๋อง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ และ เคมีภัณฑ์
จากข้อมูลดังกล่าว “ตลาดตะวันออกกลาง” จึงมีความสำคัญต่อการส่งออกของไทย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์สงครามอิหร่านและอิสราเอล อย่างใกล้ชิด และพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหากสงครามลุกลาม จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้