การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เหลืออีกเพียง 21 วัน เราก็จะรู้ว่า ใครชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ระหว่างคามาลา แฮร์ริส กับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งโพลต่างๆนั้น ดูเหมือนว่า จะให้แฮร์ริสได้เปรียบเล็กน้อย แต่ส่วนต่างนั้น อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนทางสถิติก็ได้
นอกจากนั้น ตัวของแฮร์ริสเองและทีมงาน ก็ไม่ได้ไว้วางใจ และย้ำในการหาเสียงอย่างสม่ำเสมอว่า ฝ่ายของตนเป็นรอง ไม่ได้เป็นต่อ เพราะในปี 2016 ที่นายทรัมป์หาเสียงแข่งกับ ฮิลลารี คลินตันนั้น โพลให้คลินตันนำโด่งมาตลอด แต่เมื่อมีการลงคะแนนเสียงจริงก็ปรากฏว่า ทรัมป์ชนะคลินตันแบบหักปากกาเซียนมาให้เห็นแล้ว
การเลือกตั้งของสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั้งหมดในสภา 435 คน เลือกตั้งวุฒิสมาชิก 33 คน แบ่งเป็น 19 ตำแหน่ง ที่ปัจจุบันเป็นของพรรคเดโมแครต และ 10 ตำแหน่งที่ปัจจุบันเป็นพรรครีพับลิกัน
แปลว่า พรรครีพับลิกันได้เปรียบ เพราะอาจสามารถเพิ่มจำนวนวุฒิสมาชิกได้อีก จากที่ปัจจุบันมีวุฒิสมาชิก 49 คน มากกว่าพรรคเดโมแครต ที่มีวุฒิสมาชิก 47 คน และมีวุฒิสมาชิกอิสระอีก 4 คน
นอกจากนั้น ก็ยังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐอีก 11 ตำแหน่ง เป็นของฝ่ายรีพับลิกัน 8 ตำแหน่ง และฝ่ายเดโมแครตอีก 3 ตำแหน่ง รวมทั้ง มีการทำประชามติในอีกหลายๆมลรัฐไปพร้อมๆกันด้วย
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ จึงจะมีความสำคัญอย่างมาก ในการจัดสรรและปรับเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองของสหรัฐ แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในต่างประเทศ ก็คงจะให้ความสนใจกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐเป็นหลัก
ซึ่งมีสถิติที่น่าสนใจอีกสถิติหนึ่งว่า แม้เราจะคิดว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญมาก แต่ปรากฏว่าคนอเมริกันโดยปกติมาใช้สิทธิเลือกตั้งค่อนข้างน้อย คือประมาณ 55-60% เท่านั้น โดยที่มีการมาใช้สิทธิสูงมากเป็นพิเศษเมื่อปี 2020 ที่ 67% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงประมาณ 237 ล้านคน
ดังที่รับทราบกันแล้วว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น ไม่ได้ถูกตัดสินโดยจำนวนคะแนนเสียงของประชาชนในทุกๆมลรัฐมารวมกัน จะเป็นการเก็บคะแนนที่เรียกว่า Electoral vote หรือคะแนนผู้เลือกตั้งในแต่ละมลรัฐที่มีทั้งหมด 538 คะแนน โดยผู้ชนะคือ ผู้ที่ใด้คะแนน ผู้เลือกตั้ง เกินกึ่งหนึ่งคือ 270 ขึ้นไป โดยจะใด้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ตอนปลายเดือนมกราคม 2025
แต่ละมลรัฐ จะมีคะแนนผู้เลือกตั้งแตกต่างกันไป คำนวณจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจำนวนวุฒิสมาชิกของมลรัฐต่างๆ (ซึ่งส่วนใหญ่คำนวณมาจากจำนวนของประชากร)
ที่สำคัญคือ ประชาชนในแต่ละมลรัฐ จะลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกประธานาธิบดี และหากเสียงส่วนใหญ่เลือก (เช่น) แฮร์ริส คะแนนผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ทั้งหมดของมลรัฐนั้น ก็จะต้องเทไปให้แฮร์ริสทั้งหมด ไม่ได้แบ่งเป็นสัดส่วน
ตัวอย่างเช่นในปี 2020 มลรัฐเพนซิลวาเนียมีคะแนนผู้เลือกตั้ง 20 คะแนน (ปีนี้เหลือ 19 คะแนน) มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกโจ ไบเดน 3,458,229 คะแนน เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ 3,377,675 คะแนน คือ 50.01% ต่อ 48.84%
แต่โจ ไบเดน ได้รับคะแนนผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด 20 คะแนน ไม่ได้มีการแบ่งเป็นสัดส่วนให้คนละครึ่งหรือ 10 คะแนน เป็นต้น
ดังนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ จึงเป็นการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงคะแนนให้เกินกึ่งหนึ่ง ในมลรัฐ ที่คะแนนเสียงของแฮร์ริสกับทรัมป์ มีความสูสีกันมาก (swing states) เพียง 7 มลรัฐเท่านั้น อีก 43 มลรัฐนั้น ถือว่าเป็น “ของตาย” สำหรับทั้งสองฝ่าย
ดังนั้น จึงไม่ต้องลงพี้นที่ไปหาเสียงมากนัก โดยได้มีการคำนวณว่า แฮร์ริสนั้นน่าจะมี “ฐานเสียง” ของพรรคเดโมแครตอยู่แล้วประมาณ 226 คะแนนเสียงผู้เลือกตั้ง ในขณะที่ทรัมป์จะมีฐานเสียง ของพรรครีพับลิกันอยู่แล้วประมาณ 219 คะแนน
สำหรับ 7 มลรัฐ ที่เป็นมลรัฐที่จะตัดสินผลการเลือกตั้งของสหรัฐคือ แอริโซน่า (11 คะแนน) จอร์เจีย (16 คะแนน) มิชิแกน (15 คะแนน) เนวาด้า (6 คะแนน) นอร์ท แคโรไลน่า (16 คะแนน) เพนซิลเวเนีย (19 คะแนน) และวิสคอนซิน (10 คะแนน) รวมทั้งสิ้น 93 คะแนน
โดยที่ 7 มลรัฐดังกล่าวมีประชากรประมาณ 18% ของประชากรสหรัฐทั้งหมด และหากดูคะแนนเสียงที่สูสีกันอย่างมากในมลรัฐดังกล่าว เช่น ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ไบเดนชนะด้วยคะแนนเสียงเพียง 80,600 คะแนน
ดังนั้น จึงสามารถพูดได้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น จะไม่ได้ถูกกำหนดโดยเสียงข้างมาก แต่โดยเสียงของคนสหรัฐส่วนน้อยเพียงประมาณ 0.5% ของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในมลรัฐที่เรียกว่า Swing states 7 มลรัฐที่กล่าวถึงข้างต้น
โดยหนังสือพิมพ์ Financial Times ได้สรุปผลโพลต่างๆในมลรัฐดังกล่าวมาให้เห็น (ดังปรากฏในตารางด้านล่าง) ว่าขณะนี้ แฮร์ริสกับทรัมป์คะแนนสูสีกันมาก แต่ผมเชื่อว่าแฮร์ริสจะได้รับชัยชนะในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ครับ