‘รถหรู’ เป้าหมายต่อไปของ ‘อีวีจีน’ เร่งเดินหน้าลุยตลาดอาเซียน

‘รถหรู’ เป้าหมายต่อไปของ ‘อีวีจีน’  เร่งเดินหน้าลุยตลาดอาเซียน

เป้าหมายต่อไปของค่ายรถจีน เตรียมเดิมพันใหม่กับตลาด “รถยนต์หรู” ลุยตลาดอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันของเพื่อนร่วมวงการจากประเทศเดียวกันที่มุ่งเข้ามาเจาะตลาดรถหรูในภูมิภาคนี้มากขึ้น

หลังจากประสบความสำเร็จในการบุกตลาดรถยนต์อีวีโดยใช้ “กลยุทธ์ราคา” ที่ถูกกว่าฝ่าทะลวงเจ้าตลาดค่ายรถญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกันมาแล้ว ล่าสุดค่ายรถยนต์จีนกำลังวางเดิมพันใหม่กับตลาด “รถยนต์หรู” เป็นเป้าหมายต่อไป โดยเน้นทดสอบตลาดที่ “อาเซียน” เป็นแห่งแรก

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า “บีวายดี” (BYD) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รายใหญ่ของจีน ได้เปิดฉากรุกตลาดรถยนต์หรูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการแข่งขันของเพื่อนร่วมวงการจากประเทศเดียวกันที่มุ่งเข้ามาเจาะตลาดรถหรูในภูมิภาคนี้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา บีวายดีได้ฤกษ์เปิดตัวแบรนด์ “เดนซ่า” (Denza) ในสิงคโปร์ หลังจากเปิดตัวในกัมพูชา ไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน และยังมุ่งเป้าไปที่ตลาดอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อส่งออกรถยนต์อีวีจากจีน

“อาเซียน” ถือเป็นภูมิภาคแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงที่บีวายดีเปิดตัวไลน์รถหรูภายใต้แบรนด์ Denza โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ซื้อกำลังสูงที่สามารถจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อความสะดวกสบายเพิ่มเติม

Denza D9 นับเป็นโมเดลรถหรูรุ่นแรกที่ถูกส่งมาเจาะตลาดในอาเซียน โดยอยู่ในเซกเมนต์รถอเนกประสงค์ (MPV) สำหรับครอบครัวและลูกๆ ซึ่งเน้นการแข่งขันที่ฟังก์ชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ตู้เย็นขนาดเล็ก เบาะนวด และระบบเสียงแบบพรีเมียม

แม้ว่าจะแข่งขันในกลุ่มรถหรูที่จับกลุ่มผู้ซื้อกระเป๋าหนักเป็นหลัก แต่ต้องยอมรับว่า “ราคา” ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของค่ายรถยนต์จีน

บีวายดีตั้งราคา D9 อยู่ที่ประมาณ 3 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7.65 ล้านบาท) รวมค่าธรรมเนียมสำหรับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของและใช้งานรถยนต์ที่ต้องมีในสิงคโปร์แล้ว ส่วนเจ้าตลาดเดิมอย่าง “อัลพาร์ด” ( Alphard) ซึ่งเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ไฮบริดจากค่ายรถยนต์เบอร์ 1 “โตโยต้า มอเตอร์” (Toyota Motor) ของญี่ปุ่น มีราคารวมเบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 10.2 ล้านบาท)

“แบรนด์รถหรูระดับพรีเมียมเป็นที่ต้องการอยู่เสมอในทุกๆ ประเทศหรือภูมิภาค ผมเชื่อว่า Denza จะกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน” หลิว ซูเหลียง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายรถยนต์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบีวายดี กล่าวกับนิกเกอิ เอเชีย และระบุด้วยว่าจะเปิดตัว Denza ใน “ประเทศไทย” เป็นรายต่อไปในช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ ในสัปดาห์เดียวกับที่เปิดตัวในสิงคโปร์ บริษัทได้ลงนามข้อตกลงการจัดจำหน่ายเพื่อนำเดนซ่าเข้าไปยังมาเลเซีย โดยจะเริ่มจำหน่ายในปีหน้าเป็นอย่างช้าที่สุด นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าที่จะเปิดตัวรถยนต์อีวีหรูในอินโดนีเซีย ในปี 2568 อีกด้วย

ขณะที่ “กัมพูชา” เป็นตลาดอาเซียนแห่งแรกที่บีวายดีส่งเดนซ่าเข้าไปเจาะตลาด เนื่องจากใช้รถยนต์พวงมาลัยซ้ายเช่นเดียวกับในจีน ส่วนตลาดในประเทศอื่นที่เป็นพวงมาลัยขวานั้น บีวายดีต้องเปลี่ยนพวงมาลัยไปเป็นด้านขวาก่อนจะส่งขายในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์

การเร่งเปิดตัวรถยนต์อีวีในกลุ่มลักชูรีเกิดขึ้นในขณะที่บรรดาคู่แข่งของบีวายดีกำลังเร่งเดินหน้าเข้ามารุกตลาดเดียวกัน โดยในงานแสดงรถยนต์ประจำปีที่สิงคโปร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง “เอ็กซ์เผิง/เสี่ยวเผิง” (Xpeng) และ “ตงเฟิง” (Dongfeng) ได้นำไลน์รถหรูมาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในตลาดสิงคโปร์

ขณะที่อีกค่ายอย่าง “เนตา” (Neta) เตรียมเปิดตัวในตลาดสิงคโปร์ช่วงปลายปีนี้ โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) ได้เปิดเผยเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมาว่า ค่ายรถยนต์รายนี้ได้เริ่มการผลิตที่โรงงานรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในต่างประเทศที่ประเทศไทยแล้ว

หน่วยวิจัยของธนาคารเมย์แบงก์ในมาเลเซียเคยเปิดเผยเมื่อเดือนก.ย.ว่า ยอดขายรถยนต์อีวีโดยรวมในอาเซียนกำลังพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยและการลงทุนอย่างหนักของผู้ผลิตรถยนต์จากจีน

มูลค่าการขายรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 8 หมื่น - 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40 เท่า จากประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564

“บีวายดี ซึ่งบุกเบิกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมีนัยสำคัญ มียอดขายพุ่งสูงขึ้น 83% ในสิงคโปร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับยอดขายรวมในปี 2566” เมย์แบงก์ระบุในรายงาน

“รถยนต์ของบีวายดียังคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปี 2566 อีกด้วย”

จากสถิติของสำนักงานการขนส่งทางบกของสิงคโปร์พบว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2567 สิงคโปร์มียอดจดทะเบียนรถอีวีใหม่ของบีวายดีมากที่สุดกว่า 3,000 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนของคู่แข่งรายสำคัญอย่าง “เทสลา” (Tesla) จากสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 1,500 คัน

รายงานระบุว่า บีวายดีกำลังมองหาการเปิดตัวรุ่นอื่นๆ เพิ่มเติมในอาเซียนภายใต้แบรนด์เดนซ่า หลังจากเปิดตัวรถสเตชั่นแวกอนรุ่น Z9 GT ไปแล้วในสิงคโปร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเดนซ่าเป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกจากการร่วมทุนระหว่างบีวายดีและ “เมอร์เซเดซ เบนซ์” (Mercedes-Benz) ของเยอรมนี ทั้งสองบริษัทถือหุ้นฝ่ายละ 50% ในปี 2553 ต่อมาบีวายดีค่อยๆ เพิ่มการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวและเข้าซื้อกิจการทั้งหมดเมื่อต้นปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้น

จากข้อมูลของบีวายดีพบว่ามียอดสั่งซื้อรถรุ่นต่างๆ ของแบรนด์เดนซ่าพุ่งแตะระดับ 2.5 แสนคันทั่วโลก เพอร์รี เซียว นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ และเป็นหนึ่งในลูกค้ารายแรกๆ ที่ซื้อรถรุ่น D9 ในสิงคโปร์กล่าวว่า ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนไปใช้รถรุ่นอื่นในภายหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตลาดผู้บริโภคที่ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเป็นพิเศษ

“ผมกำลังมองหารถ MPV อยู่ และกำลังคิดว่าจะอัปเกรดเป็นรถที่ใหญ่กว่านี้เพราะครอบครัวและลูกชายสองคนของผม ถ้าลองถามคนอื่นๆ ดู พวกเราจะเปลี่ยนรถทุกๆ 5 ปี หรือ 6 ปี” เซียวกล่าว

 

อ้างอิง: Nikkei Asia