‘กูเกิล’ ซื้อ ‘พลังงานนิวเคลียร์’ ตามรอยไมโครซอฟท์ ป้อน AI ดาต้าเซ็นเตอร์
'กูเกิล' ตามรอยไมโครซอฟท์ เซ็นสัญญาซื้อ 'พลังงานนิวเคลียร์' รองรับธุรกิจเอไอดาต้าเซ็นเตอร์ที่กินไฟมหาศาล
บริษัทกูเกิล อิงค์ (Google) เปิดเผยว่า เตรียมลงนามข้อตกลงการซื้อไฟฟ้ากับบริษัทไครอส พาวเวอร์ (Kairos Power) ซึ่งเป็นบริษัทโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นมากจากความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
กูเกิลระบุว่าการซื้อพลังงาน SMR ในครั้งนี้จะส่งสัญญาณเรื่องดีมานด์ครั้งสำคัญไปยังตลาด ในขณะเดียวกันก็เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อกระตุ้นการใช้พลังงานดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ด้วย
"เราเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเทคโนโลยีที่สะอาดของเรา และช่วยให้เกิดความก้าวหน้าของเอไอ" ไมเคิล เทอร์เรลล์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศของกูเกิลกล่าว
อย่างไรก็ตาม กูเกิลไม่ได้เปิดเผยราคาหรือข้อตกลงทางการเงินในดีลนี้แต่อย่างใด
ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR เพียงสามแห่งเท่านั้นในโลกและไม่อยู่ในสหรัฐ เป็นที่คาดว่าดีลนี้จะกระตุ้นดีมานด์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ซึ่งจะเป็นวิธีการที่คุ้มต้นทุนกว่าในการขยายพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต เพราะที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่มักมีค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณและก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด
สำหรับบริษัทไครอส พาวเวอร์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2559 นั้น ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ และเมื่อเดือนก.ค. 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์สาธิต Hermes ในเมืองโอ๊คริดจ์ รัฐเทนเนสซี โดยใช้เกลือฟลูออไรด์หลอมเหลวเป็นสารหล่อเย็นระบายความร้อนแทนน้ำ
กูเกิลกล่าวว่าเครื่องปฏิกรณ์เครื่องแรกจะพร้อมใช้งานภายในปี 2030 และจะมีเครื่องปฏิกรณ์อีกหลายเครื่องเปิดใช้งานจนถึงปี 2035 โดยรวมแล้วจะมีการเพิ่มพลังงานให้กับกริดไฟฟ้าได้ 500 เมกะวัตต์ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์อยู่มาก เช่น เครื่องปฏิกรณ์ยูนิต 4 ที่โรงงาน Vogtle ซึ่งเปิดใช้งานในปีนี้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1.1 กิกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ SMR เนื่องจากต้นทุนที่ถูกกว่า ก่อสร้างได้เร็วกกว่า และมีความยืดหยุ่นมากกว่าในแง่สถานที่ตั้งโรงงาน