ญี่ปุ่นจับตา ‘ไทย - มาเลย์’ ร่วมกลุ่ม BRICS หวั่นเปลี่ยนข้างซบ ‘จีน - รัสเซีย’

ญี่ปุ่นจับตา ‘ไทย - มาเลย์’ ร่วมกลุ่ม BRICS  หวั่นเปลี่ยนข้างซบ ‘จีน - รัสเซีย’

นักวิเคราะห์ชี้ 'ญี่ปุ่น' จับตาการเข้าร่วมกลุ่มประเทศ BRICS ของไทย และมาเลเซียอย่างใกล้ชิด หวั่นละทิ้งสมดุลการทูตที่มีมา หันไปอิงเข้าหาขั้วอิทธิพลใหม่ หวังเร่งเครื่องเศรษฐกิจให้โตเร็ว

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศว่า “ญี่ปุ่น” กำลังจับตามอง “ประเทศไทย และ “มาเลเซีย” อย่างใกล้ชิด กรณีการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ “บริกส์” (BRICS) และจะพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง “สมดุลทางการทูต” ไปสู่ขั้วประเทศใหม่

ทั้งนี้ ไทย และมาเลเซียกำลังอยู่ระหว่างการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ ที่เป็นการรวมตัวกันของตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรที่วางสถานะตนเองเป็นคู่แข่งกับขั้วอำนาจเศรษฐกิจเดิมอย่าง สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

นักวิเคราะห์ระบุว่า ญี่ปุ่นมีความกังวลว่าไทย และมาเลเซียอาจจะกำลังละทิ้งความสมดุลทางการทูตที่เคยรักษาไว้ได้มาตลอดระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจเดิมกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และหันไปโน้มเอียงเข้ากับกลุ่มใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และรัสเซียมากขึ้นแทน

โก อิโตะ ศาสตราจารย์ด้านการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเมจิให้สัมภาษณ์ว่า ญี่ปุ่นจะมีความกังวลอย่างมากในเรื่องนี้

“ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมาระยะหนึ่งแล้ว และเราต้องจำไว้ว่านอกจากสหรัฐแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถาบันขงจื่อตั้งอยู่มากที่สุดในโลก” อิโตะกล่าวถึงสถาบันขงจื่อ ซึ่งเป็นสถาบันด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลจีน และเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

ศาสตราจารย์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ทั้งไทย และมาเลเซียต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากการเข้าร่วมกลุ่มประเทศบริกส์ โดยมาเลเซียมีเป้าหมายที่ขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง ในขณะที่ไทยก็พยายามที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยื่นคำร้องเพื่อขอเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ไปแล้ว ตามมาด้วยการยื่นเรื่องของมาเลเซียในเดือนถัดมา และเป็นที่คาดว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ที่จะมีขึ้นในรัสเซีย ช่วงปลายเดือนต.ค. นี้ จะมีการอนุมัติคำร้องทั้งสองฉบับ

สมาชิกกลุ่มแรกเริ่มทั้งห้าประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีประชากรรวมกันถึงราว 40% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจเป็น 25% ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่าการเพิ่มประเทศสมาชิกใหม่จะทำให้กลุ่มบริกส์มีอิทธิพลมากขึ้น

อิโตะมองว่าญี่ปุ่นไม่น่าจะนิ่งเฉยเป็นฝ่ายตั้งรับการขยายตัวของบริกส์ และคาดว่าญี่ปุ่นจะเพิ่มการมีส่วนร่วมกับไทย และมาเลเซีย “ในลักษณะเดียวกับที่โตเกียวทำกับเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” โดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อต่อต้านความแข็งกร้าวของจีนในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม เจฟฟ์ คิงส์ตัน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาของมหาวิทยาลัยเทมเพิลในกรุงโตเกียว เห็นต่างว่า การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของทั้งสองประเทศ“อาจไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนขั้วอย่างมีนัยสำคัญ”

"เราอาจตีความเรื่องนี้ได้ว่าเป็นกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงที่ชาญฉลาด โดยยื่นบาตรออกมา และถามอย่างตรงเป้าว่า ‘คุณจะช่วยอะไรฉันได้บ้าง’” คิงส์ตัน กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองประเทศดูเหมือนจะวางตำแหน่งตัวเองเพื่อเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองขั้วอำนาจ

“ผมไม่เห็นว่าจะมีใคร ‘เปลี่ยนฝ่าย’ ณ จุดนี้ แต่พวกเขากำลังนั่งอยู่ตรงกลางอย่างชาญฉลาดและรอให้การประมูลเริ่มต้นขึ้น”

คิงส์ตัน กล่าวว่า ข้อเสียเปรียบหลักของกลุ่มบริกส์คือ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ และการเมือง เช่น รัสเซียมีความเกี่ยวพันเพียงเล็กน้อยกับแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศไทยอาจตระหนักได้ในไม่ช้านี้ว่าตนเองมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพียงเล็กน้อย

“ประเทศสมาชิกอาจจะมีความเห็นร่วมกันเรื่องผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่นโยบายต่างประเทศอื่นๆ แล้ว พวกเขาก็มีความเหมือนกันน้อยมาก” คิงส์ตัน กล่าว “กลุ่มบริกส์เป็นองค์กรที่มองหาแนวทางที่สอดคล้องกัน แต่ดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้”

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเองยังมีข้อได้เปรียบในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการลงทุนสูงและจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศให้ภูมิภาคนี้มากถึงราว 70% ตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

“บริษัทญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นนักลงทุนที่เป็นมิตรมากกว่าบริษัทจากจีน เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ขณะเดียวกัน ยังมองว่าญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่เข้ากันได้ง่ายกว่า และมีความรับผิดชอบมากกว่าในเรื่องต่างๆ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน” คิงส์ตัน กล่าวพร้อมเสริมว่า ความแม่นยำเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาถือเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่น

นักวิเคราะห์รายนี้ยังปฏิเสธแนวคิดที่ว่า อาจจะมีประเทศอื่นๆ ในอาเซียนทำตามมาเลเซีย และไทยในการเข้าร่วมกลุ่มบริกส์ โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่มีต่อความช่วยเหลือระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และแนวทางเชิงกลยุทธ์ “ระยะยาว” ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกระดับของสังคม และรัฐบาล

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์