‘Intel’ รอดคดีผูกขาด! ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

‘Intel’ รอดคดีผูกขาด! ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

‘Intel’ ชนะคดีต่อสู้ทางกฎหมายกับสหภาพยุโรปจากข้อกล่าวหาผูกขาดตลาด การพลิกผันครั้งนี้ส่งผลสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี และเปิดประเด็นถกเถียงถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหภาพยุโรป

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “อินเทล” (Intel) ผู้ผลิตชิปซีพียูระดับโลก “ชนะ” ศึกต่อสู้ทางกฎหมายรอบล่าสุดกับสหภาพยุโรป เกี่ยวกับคดีที่นำไปสู่โทษปรับทางการแข่งขันธุรกิจที่สูงถึง 1.06 พันล้านยูโร หรือราว 38,000 ล้านบาท

ศาลยุโรปชี้ขาดว่า หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริษัทอเมริกันรายนี้ได้ให้เงินชดเชยที่ผิดกฎหมายแก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เพื่อแลกกับการซื้อชิปจากอินเทลเป็นหลัก โดยศาลตัดสินว่าเหตุผลทั้งหมดที่คณะกรรมาธิการยุโรปใช้ในการอุทธรณ์คดีนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

คำพิพากษาของศาลฎีกาได้ให้ความเห็นชอบกับคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ซึ่งได้มีการเพิกถอนคำสั่งที่กล่าวหาบริษัทอินเทลว่า กระทำการผูกขาดตลาดเพื่อกีดกันคู่แข่งอย่างบริษัท AMD ซึ่งก่อนหน้านั้น ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ยอมรับคำตัดสินที่ทำให้แพ้คดีครั้งใหญ่ในรอบกว่า 20 ปี และได้ยื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า ศาลมีการตัดสินผิดพลาด

อินเทลแสดงความพอใจกับคำตัดสินของศาล และคาดหวังว่าเรื่องนี้จะจบลงเสียที ทว่าเรื่องนี้ยังไม่จบสิ้น อาจมีการดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับคดีนี้ต่อไป เพราะยังคงมีคดีความระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปกับบริษัทอินเทล เนื่องจากคณะกรรมาธิการได้ปรับโทษบริษัทอินเทลเป็นจำนวน 376.36 ล้านยูโร โดยอ้างอิงจากส่วนของคดีที่คณะกรรมาธิการชนะในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2022

คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวหาอินเทลว่า จ่ายเงินให้ผู้ผลิตเพื่อไม่ให้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มีชิปเซตของคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายการแข่งขันในสหภาพยุโรป

ในระหว่างการสืบสวนคดีการผูกขาดก่อนการตัดสินในปี 2009 คณะกรรมาธิการได้กล่าวหาว่า อินเทลขัดขวางการแข่งขันด้วยการให้ส่วนลดแก่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2005 หากซื้อชิปคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 95% จนทำให้ AMD ประสบปัญหาในการแข่งขันกับ Intel ที่ครองตลาด
 

 

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์