อินโดนีเซียบอกชัดอยากเข้าเป็นสมาชิก BRICS
กระทรวงการต่างประเทศแถลง อินโดนีเซียต้องการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ คิดเป็น 35% ของเศรษฐกิจโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ในช่วงที่ผู้นำ BRICS กำลังประชุมกันที่เมืองคาซานของรัสเซียในสัปดาห์นี้ กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกแถลงการณ์เมื่อกลางดึกวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.) ว่า กระบวนการเข้าร่วมกลุ่มได้เริ่มขึ้นแล้ว
“การที่อินโดนีเซียเข้าร่วม BRICS ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและแข็งขัน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจงใจเข้าร่วมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เรามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในทุกเวที” นายซูจิโอโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของอินโดนีเซียกล่าว
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลก มีนโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ซึ่งสาบานตนเมื่อวันอาทิตย์ (20 ต.ค.) ย้ำว่า เขาจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐ และจะไม่เข้าร่วมกับกลุ่มทางทหารใดๆ
นายซูจิโอโนกล่าวด้วยว่า BRICS สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลสุเบียนโต "โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การลดความยากจน และความก้าวหน้าด้านทรัพยากรมนุษย์ อินโดนีเซียมอง BRICS เป็น "ยานพาหนะ" เพิ่มเติมผลประโยชน์ของกลุ่มโลกใต้
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า กว่า 30 ประเทศแสดงความต้องการอยากเข้าร่วม BRICS แม้ยังไม่ชัดเจนว่าการขยายสมาชิกจะได้ผลเพียงใด
สมาชิกปัจจุบันของกลุ่มประกอบด้วย บราซิล จีน อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย อิหร่าน รัสเซีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นายโยฮาเนส สุไลมาน อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเจนเดอรัล อัคมัด ยานี เกิดคำถามถึงผลประโยชน์ที่อินโดนีเซียเข้าร่วมบริสก์ ที่สามารถหาได้จากความสัมพันธ์ทวิภาคี แต่แสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียไม่ต้องการตกขบวน
“ตามเขาไปย่อมดีกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” นักวิชาการกล่าวและว่า ไม่ได้หมายความว่านโยบายต่างประเทศของปราโบโวเน้นตะวันออกมากกว่าตะวันตก
หลายเดือนก่อนตั้งแต่ปราโบโวยังไม่รับตำแหน่ง อินโดนีเซียต้องการเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในกรุงปารีส ภายในสองถึงสามปี เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากประเทศสมาชิก
การประชุมผู้นำ BRICS ในเมืองคาซานแตะประเด็นสงครามในตะวันออกกลางและยูเครนด้วย แต่ไม่มีสัญญาณว่าจะทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อยุติความขัดแย้ง